ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - บล.กสิกรไทย แนะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศยังน่าลงทุน เหตุให้ผลตอบแทนการลงทุนดี จ่ายปันผลสูง แม้ คสช.ประกาศคำสั่ง44 เอื้อประโยชน์ค่ายมือถือทำให้มีสภาพคล่อง บริหารการเงินดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับเงื่อนไขทำสัญญารับอนุญาติคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ กับ กสทช.
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ว่า จากกรณีที่รัฐบาล คสช.ได้ประกาศคำสั่งตามมาตรา 44 ในการยืดระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นของค่ายมือถือซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มโทรคมนาคมอย่างมาก โดยเฉพาะการยืดระยะเวลาจ่ายเงินคลื่นความถี่ 900เมกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้นกว่าเดิม ในการบริหารจัดการรายจ่ายของธุรกิจตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ2 ค่ายใหญ่คือ 1.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และ 2.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่จากเดิมที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในปีหน้า แต่จะยืดระยะเวลาออกไปอีก 6 ปี โดยจะเป็นการยื่นชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอีกครั้งในปี 2565
“การยืดระยะเวลาจ่ายเงินช้าลง ซึ่งจะมีผลดีต่อดอกเบี้ย ทำให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการบริหารจัดการเวลาและเงินที่มีอยู่ในมือมากขึ้น หากว่าไม่ยืดเวลาออกไปบริษัทโทรคมนาคมเหล่านี้ก็จะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือออกหุ้นกู้เพื่อที่จะนำเงินมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งในเชิงของมูลค่าเงินที่จะต้องจ่ายน้อยลงที่ทาง บล.กสิกรไทยประเมินไว้ ของ ADVANC จะอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ของ DTAC ประมาณ 3,900 ล้านบาท ส่วนของ TRUE จะอยู่ที่ 13,400 ล้านบาท”
แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเวลาการยืดเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ออกไปนั้น ไม่ได้มีการยืดขยายเวลาออกไปฟรีๆ แต่ทางบริษัทผู้ให้บริการคลื่นความถี่เหล่านี้จะต้องไปทำสัญญารับอนุญาติคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ จากคณะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ซึ่งประเมินว่าขณะนี้ราคาใบอนุญาตจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท/ใบ โดยจะมีอายุสัญญา 15 ปี สามารถผ่อนจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปีในอัตราปีละ 2,500 ล้านบาท/ราย
“พิจารณาจากมูลค่าสัญญาใบอนุญาติปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 15,000ล้านบาท แต่หากนำสองก้อนนี้มากระทบกัน จากส่วนที่ประหยัดได้ในการยืดระยะเวลาจ่ายค่าคลื่น 900เมกะเฮิรตซ์ออกไป และส่วนที่จะต้องจ่ายค่าคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นสัญญาใหม่ จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการค่ายมือถือจะขาดทุน โดยประเมินว่า ADVANC จะขาดทุนที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท DTAC จะขาดทุนประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วน TRUE จะขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท”
อย่างไรก็ดีทำให้เกิดคำถามว่าถ้าหากขาดทุนแบบนี้ผู้ประกอบการควรจะรับเงื่อนไขนี้ของ คสช.หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาเงื่อนไขยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกไป 6 ปี และ ทำสัญญารับอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ใหม่นั้น ค่ายมือถือควรจะรับเนื่องจากว่า หากพิจารณาค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอายุสัญญากว่า 15 ปีและเงื่อนไขสัญญาผ่อนจ่ายเป็นเวลากว่า 10 ปี ถือว่าถูกมาก อีกทั้งมีความได้เปรียบในการนำไปใช้งานได้ทั้ง 4G และ 5G ซึ่งหลายๆค่ายได้เตรียมที่จะทดสอบระบบ 5G บ้างแล้ว โดยไม่ว่าจะช้าหรือเร็วผู้ประกอบการต้องมีการลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่อยู่แล้ว และหากได้ 5G ความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นคลื่นต่ำ ถือว่าคุ้มค่าเพราะเงินที่จะต้องจ่ายออกไปไม่เยอะมากนัก โดยเงินจำนวนนี้ที่ทางผู้ประกอบการโทรคมนาคมจ่ายไปให้กับทาง กสทช. และทาง กสทช.ก็จะนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่อไป
ขณะเดียวกันสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ จากคำสั่ง คสช.มาตรา 44หากมีการยื่นเงื่อนไขยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตออกไปโดยจะแบ่งเป็น 2ส่วนคือ ส่วนที่ 1. การใช้งานของตัวประชาชนเอง เนื่องจากผู้ประกอบการมีปริมาณคลื่นความถี่มากขึ้น หลังจากที่ไปประมูลคลื่นความถี่ใหม่มาแล้ว ก็จะนำคลื่นความถี่นั้นมาลงทุนเพื่อหารายได้ให้กับบริษัท ส่งผลให้การบริการด้านข้อมูล (DATA) ที่ดีขึ้น มีปริมาณช่องสัญญาณรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยที่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องจ่ายจะมีการปรับตัวลดลงมา ขณะที่ในส่วนที่ 2. คือฝั่งอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ จากทิศทางเทคโนโลยีโลกที่มองว่า 5G จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งหากประเทศไทยมีการพัฒนาความพร้อมด้านเทคโนโลยี 5G ให้รวดเร็วรองรับความต้องการของผู้ใช้งานและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่แสวงหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมองว่าจะขยายตัวจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก่อนและจะทยอยขยายตัวไปยัง SME ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ส่งผลต่อภาพรวมทั้งประเทศที่จะได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่เป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้
ขณะที่ภาพรวมของหุ้นกลุ่มสื่อสารในอนาคตนั้น นายพิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงปลายเทคโนโลยียุค 4G ซึ่งกำลังจะเข้าสู่เทคโนโลยียุค 5G โดยในอนาคตคาดว่าทาง กสทช.จะได้ทยอยเปิดให้ทางผู้ประกอบการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2,600 เมกะเฮิรตซ์ 3,500 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 28,000 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ส่งผลให้เม็ดเงินที่จะลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเริ่มทยอยลงทุนในปีนั้น และจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้และกำไรอย่างชัดเจนหลังจากลงทุนไปแล้ว 4-5 ปี
“มองว่าปี 2562 - 2563 จะเป็นปีที่หลังจากผู้ประกอบการที่ได้มีการลงทุนไปในเทคโนโลยี 4G อย่างเต็มที่แล้ว เป็นเวลาที่จะเก็บเกี่ยวรายได้และกำไรจากการลงทุนกลับคืนมา ขณะเดียวกันภาพของการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมปัจจุบันนี้ ตลาดค่อนข้างมีความสมดุล จากผู้ประกอบการ 3 รายเดิมและทั้ง 3 รายนั้นมีทรัพยากรที่ใกล้เคียงกันทั้งคลื่นความถี่ และช่องสัญญาณที่มีปริมาณมากพอจะรองรับความต้องการของทั้งประชาชนผู้ใช้งาน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งอัตราค่าบริการและโปรโมชั่นทั้ง 3 ค่ายมือถือก็ไม่ได้มีการแตกต่างกันมากนัก ขณะที่ในแง่ของแบรนด์ผู้ให้บริการ ก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่ไม่ต่างกันมาก ทำให้เราเชื่อว่าจะเกิดการร่วมมือกันของผู้ประกอบการในการกำหนดราคา และผลตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อเตรียมเก็บเงินไว้สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาในปีต่อๆไป ”
ทั้งนี้ บล.กสิกร ให้มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มสื่อสาร โดยมีหุ้นที่ได้นำเข้ามาพิจารณาทั้งหมด 8 ตัว คิดเป็นปริมาณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดกว่า 90% ของหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม ซึ่งแบ่งออกเป็นซื้อ 7 ตัวและขาย 1 ตัว ซึ่งหุ้นตัวที่ซื้อแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยประเภทที่ 1. คือหุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดให้แก่นักลงทุน ได้แก่ TRUE โดยพิจารณาจากราคาหุ้นที่ยังไม่แพง และไม่มีการปรับขึ้นมาอย่างหวือหวาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งมาตรการของ คสช.ที่ประกาศออกมาจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อหุ้นทรูมากที่สุด ในบรรดาผู้ประกอบการด้วยกัน โดยถือว่ามีความโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 7.35บาท/หุ้น นอกจากนี้ในส่วนของนักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงและชอบผลตอบแทนจากเงินปันผล ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ซึ่งมีอัตราเงินปันผลอยู่ที่ 7% , บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ที่มีอัตราเงินปันผลที่ 5% , บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ในอัตราจ่ายเงินปันผลที่ 4%
“ADVANC และ INTUCH จะดีในแง่ที่ว่าถ้า ADVANC สามารถยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาติคลื่นความถี่ 900เมกะเฮิรตซ์ออกไป อาจจะส่งผลให้จ่ายเงินปันผลได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 70% ของกำไรสุทธิ โดยเชื่อว่าหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จะสามารถจ่ายเงินปันผลจากอัตรา 70% ของกำไรสุทธิเป็น 85% ของกำไรสุทธิ ทำให้อัตราเงินปันผลจาก 4% จะเพิ่มเป็น 4.8% และถ้าหาก ADVANC จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นก็จะสะท้อนออกมาใน INTUCH ที่จะได้ผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยจะเพิ่มจากเดิม 5% เป็น 5.8% ในขณะที่ DIF จะได้รับประโยชน์ในช่วงแรกของการลงทุน 5G จากการปล่อยเช่าเสาสัญญาณซึ่งมีเหลือว่างอยู่ประมาณ 30%”
ขณะที่กลุ่มที่ 3 ได้แก่ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ซึ่งมีการเจรจาซื้อขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวม JASIF ยังดำเนินการอยู่ซึ่งจะสิ้นสุดได้ภายในปีนี้ โดยจากการวิเคราะห์ของ บล.กสิกร เชื่อว่าหาก JAS ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนได้ ก็จะสามารถปรับเพิ่มอัตราเงินปันผลที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอัตรา 2 บาท/หุ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบันราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 5 บาทกว่า ซึ่งหากได้ปันผลที่ระดับ 2 บาทต่อหุ้นก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน ขณะที่ JASIF หากมีสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาใหม่ ก็จะมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าจะขยับจาก 9% เป็น10% ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่มีเรตอัตราปันผลสูงเป็นอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนเลือก
ทั้งนี้ในส่วนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ซึ่งราคาอยู่ในระดับเป้าหมายที่ 55 บาท/หุ้น โดย บล.กสิกรยังแนะนำให้ซื้ออยู่ โดยหากงบผลประกอบการที่ประกาศออกมา ไม่มีความโดดเด่นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจจะทำให้นักลงทุนผิดหวัง และเกิดการเทขายหุ้นออกมาหลังจากที่ประกาศงบฯ แต่ทั้งนี้นักลงทุนควรพิจารณารอจังหวะที่เหมาะสมก่อน ที่จะตัดสินใจลงทุน
ขณะเดียวกันหุ้นที่แนะนำให้นักลงทุนขายออกยังได้แก่ บมจ.ไทยคม หรือ THCOM เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมที่มีการแข่งขันกันสูง และการชะลอตัวของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งลูกค้าเก่าที่หมดสัญญาไม่ได้มีการต่อสัญญาใหม่ และตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564