xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลังจอดำ 7 ช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต กสทช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


16.30 น. ขีดเส้นตายคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 3 บริษัทมหาชนผู้ประกอบกิจการธุรกิจสื่อในตลาดหุ้นคือ MCOT, NMG และ NEWS จากจำนวน 7 ช่อง เข้ายื่นขอคืนใบอนุญาตต่อ กสทช. ตามคำสั่ง คสช. "ฐากร" คาดจ่ายเยียวยาช่องทีวีที่คืนใบอนุญาตหลังยุติการออกอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของจำนวนเงินที่จ่ายไป นายกย้ำช่องที่คืนใบอนุญาตหลังจากได้รับเงินแล้วให้เร่งเยียวยาบุคคลากรที่ตกงาน

จากกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ หรือ คสช. ได้มีประกาศคำสั่งที่ 4/2562 เรื่องมาตรการเเก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์เเละกิจการโทรคมนาคม โดยในข้อ 10 ซึ่งระบุถึงผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลรายใดมีความประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้ดำเนินการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาความเหมาะสมในการจ่ายชดเชยให้ผู้ประกอบการที่ใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว


โดยล่าสุดเวลา 16.30 น. วันนี้ (10 พ.ค.62) ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล แจ้งความประสงค์ในการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล แล้วทั้งหมด 7 ราย ประกอบด้วย Voice TV ช่อง 21 , สปริงนิวส์ ช่อง 19, สปริง 26 (หรือช่องเดิมคือ Now 26) , MCOT Family ช่องหมายเลข 14 , ไบรท์ทีวี ช่องหมายเลข 20 , ช่อง 3 แฟมิลี่ หมายเลขช่องที่ 13 และช่อง 3 SD หมายเลขช่องที่ 28

ด้าน บมจ.บีอีซีเวิลด์ หรือ BEC ได้มีการออกแถลงการณ์ เรื่องการคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 2 ช่องคือ ช่อง 3 แฟมิลี่ หมายเลขช่องที่ 13 และช่อง 3 SD หมายเลขช่องที่ 28 ว่า ในวันนี้ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอคืนใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน ต่อสำนักงาน กสทช. แล้วเนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบปัญหาการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างรุนแรงจากจำนวนช่องที่มีมากเกินไป ขณะที่เม็ดเงินโฆษณากลับมีการหดตัวลงอย่างมาก นอกเหนือจากนี้ธุรกิจทีวีดิจิทัลยังได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชม ที่หันไปรับชมรายการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งให้บริการผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องแบกรับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จากมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายรายได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาตตามที่คำสั่งมาตรา 44 ที่ คสช. ได้ประกาศไว้

ขณะที่ในส่วนของ บมจ.อสมท. หรือ MCOT โดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะกรรมการบริษัท ฯ มีมติเห็นชอบที่จะคืนใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการโทรทัศน์แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition หรือ SD) หมวดหมู่ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว หมายเลข 14 ช่อง MCOT Family โดยได้นำส่งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. เรียบร้อยแล้ว

"ถึงแม้ว่าจะไม่มีช่อง 14 MCOT Family แล้ว แต่ อสมท. ก็จะยังคงจุดยืนที่จะสนับสนุนและส่งเสริมเด็กและเยาวชน ตลอดจนถึงสังคมและครอบครัวตามภารกิจเดิม ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางของบริษัท ซึ่งการคืนใบอนุญาตฯ ดังกล่าว นอกจากจะทำให้บริษัทได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว ทำให้ไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ด้วย"


อย่างไรก็ดี MCOT ยังคงใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลความคมชัดสูง (High Definition หรือ HD) หมวดหมู่ช่องรายการทั่วไป หมายเลข 30 ช่อง 9 MCOT HD เช่นเดิม โดยจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ที่จะผลักดันช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยข่าวสาร กีฬา รายการสาระบันเทิงต่าง ๆ โดยตั้งเป้าที่จะให้เป็นช่องทีวีที่กลับมาครองความนิยมจากผู้บริโภคติดอับดับ Top 10 อีกครั้ง ขณะเดียวกัน บมจ.อสมท.ยังยึดถือแผนการดำเนินธุรกิจระยะสั้น 3 ปี (ปี 2562- 2565) โดยจะเน้นการพัฒนา Content, Informations และ Data และปรับปรุงกระบวนการภายใน รวมทั้งหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ ทดแทนควบคู่กันไป เช่น การพัฒนาที่ดินย่านรัชดา - พระราม 9 โดยหลังจากนี้ อสมท. จะเปิดกว้างให้พันธมิตรภายนอกเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิตรายการ, การทำระบบ IT และเทคโนโลยี และการเปิดตลาดใหม่ ๆ เพื่อพลิกวิกฤตด้านผลประกอบการของบริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี

ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจและวิตกกังวลอย่างมาก คือ การเยียวยาบุคคลากรในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ซึ่งหลังจากที่ช่องดังกล่าวยุบเลิกไปแล้ว จะต้องมีพนักงานที่ตกงานนับพันคน โดยทางนายกรัฐมนตรี ได้กำชับต่อ กสทช. ว่าหลังจากที่ช่องทีวีดังกล่าวที่ยุบเลิกกิจการและได้รับเงินชดเชยแล้ว ให้รีบเยียวยากลับคืนพนักงานโดยเร็วที่สุดและให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดด้วย

ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้ผู้ประกอบกิจการต้องจัดส่งเอกสารมาให้สำนักงาน กสทช.ภายใน 60 วัน จากนั้นจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเยียวยาว่าจะคืนเงินให้แต่ละสถานีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะได้รับร้อยละ 55 ของจำนวนเงินที่จ่ายไป เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะนำส่งให้ กสทช.พิจารณาการอนุญาตยุติการออกอากาศ จะเป็น 30 วัน หรือ 45 วัน นับแต่ กสทช.มีมติ และสุดท้าย ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ พร้อมคืนเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการในวันรุ่งขึ้นหลังยุติการออกอากาศ โดย กสทช. ได้ใช้สูตรคำนวณค่าเยียวยาขอคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมนั่นคือ ช่องที่จะขอคืนใบอนุญาตต้องยื่นแจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 10 พ.ค.2562 ก่อนเวลา 16.30 น. และไม่สามารถเปลี่ยนใจในภายหลังได้ ซึ่งสูตรการคำนวณค่าชดเชยให้กับผู้ขอคืนใบอนุญาต โดยจะแบ่งการคำนวณเป็น 2 ส่วน คือ นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้ชำระแล้ว นับถึงถึงงวดที่ 4 ซึ่งครบกำหนดจ่ายปีนี้ คูณด้วยอายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ และหารด้วยอายุใบอนุญาตทั้งหมด คือ 15 ปี สำหรับช่องที่ยังไม่ได้จ่ายงวดที่ 4 ก็ให้นับรวมไปเลย โดยจะหักกลบลบหนี้ในตอนที่ชำระเงินคืนให้ จากนั้นให้คำนวณผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับระหว่างการประกอบกิจการมาหักลบออก ได้แก่ เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX)และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ Must Carry ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และผลประกอบการของผู้รับใบอนุญาตตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เมษายน 2562 เฉพาะที่มีกำไรสุทธิ โดยผู้ประสงค์จะขอคืนใบอนุญาตต้องนำส่งผลประกอบการภายใน 60 วัน นับแต่ยื่นหนังสือแจ้งขอคืนใบอนุญาต


อย่างไรก็ตาม โดยหลังยื่นเอกสารขอคืนช่อง บอร์ด กสทช. จะพิจารณากำหนดวันยุติการให้บริการออกอากาศของช่องทีวีที่ขอคืนใบอนุญาต จากแผนการเยียวยาที่แต่ละช่องเสนอมา โดยขั้นต่ำที่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน เพื่อชี้แจงให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ถึงการเตรียมยุติการออกอากาศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน สิงหาคม 2562 โดย กสทช.จะนำเงินจากกองทุน กทปส. มาสำรองจ่ายชดเชยให้ไปก่อน โดยไม่ต้องรอเงินจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ


กำลังโหลดความคิดเห็น