xs
xsm
sm
md
lg

กนง.หั่นเป้าจีดีพีรอบใหม่-คงดอกเบี้ยนโยบาน1.75%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนง.เล็งหั่นเป้าจีดีพีปีนี้อีก จากเดิมประเมินไว้ 3.8 % เหตุส่งออกและการลงทุนวูบ จากความผันผวนเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมือง รอประเมินอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 26 มิ.ย พร้อมมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75 %

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.8% เพราะการส่งออกและการลงทุนลดลง

นอกจากนี้ กนง.เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.8% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกและการลงทุน ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอน ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีเรื่องของการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ที่เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้งนั้น จะต้องรอการประชุมในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ โดยคณะกรรมการจะติดตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณา”นายทิตนันทิ์ กล่าว

สำหรับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานโดยรวมที่เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณการชะลอลงของการจ้างงานในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อการส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ โดยคณะกรรมการ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมาหลักที่จะส่งมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ช่วยชดเชยผลของราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในระยะข้างหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน นับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ กนง.จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาจะช่วยดูแลความเปราะบางในระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรได้ในระดับหนี่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์

อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลอาจล่าช้านั้น มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลนั้นจะมีผลในเรื่องของการเสนองบประมาณปี 2563 การเบิกจ่ายงบของ
รัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น