xs
xsm
sm
md
lg

NOK จะทนได้อีกกี่น้ำ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถานการณ์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ตกอยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วง เพราะขาดทุนหนักติดต่อมาหลายปี แม้จะเพิ่มทุนหลายระลอก และเพิ่งได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอีก 3,000 ล้านบาท แต่อาจช่วยคลายวิกฤตการดำเนินงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น


การประชุมผู้ถือหุ้น NOK เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้อนุมัติการรับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทจาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทในสัดส่วน 22.15 % ของทุนจดทะเบียน ซึ่งจะทำให้ NOK มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น


ปัญหาใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้อยู่ที่ผลประกอบการ ถ้ายังขาดทุนต่อเนื่อง จะต้องหาเงินเข้ามาอุดไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารบริษัท จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพลิกผลประกอบการให้มีกำไร


แต่จะกลับมาทำกำไรได้อย่างไร ในเมื่อธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำมีการแข่งขันสูง และสงครามตัดราคาค่าตั๋วยังห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด


บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเพิ่งล้มโต๊ะเจรจาซื้อหุ้น NOK จากกลุ่มจุฬางกูร กำลังเปิดสงครามราคา ถล่มสายการบินนกแอร์อย่างหนัก


เพราะถ้าสายการบินนกแอร์ประสบปัญหา หมายถึงคู่แข่งรายสำคัญของไทยแอร์เอเชีย จะหมดพิษสง ตารางการบินที่ขาดแคลน และทุกสายการบินมีความต้องการสูง จะมีโอกาสตกเป็นของไทยแอร์เอเชียมากขึ้น


สงครามการตัดราคาสายการบินต้นทุนต่ำ ดำเนินมาพักหนึ่งแล้ว สายการบินนกแอร์ถูกเฝ้ามองว่า จะทนได้ขนาดไหน กลุ่มจุฬางกูรจะหาเงินมาถมใส่ใน NOK ได้อีกเท่าไหร่


หลังจากโต๊ะเจรจาขายหุ้นให้ AAV ถูกล้ม กลุ่มจุฬางกูรเปิดกว้างให้กลุ่มทุนใหม่ที่สนใจ NOK ซื้อหุ้น ภายใต้เงื่อนไข กลุ่มจุฬางกูรจะขายหุ้นที่ถือไว้ทั้งหมด ไม่แบ่งหรือแยกส่วนขาย


อีกเงื่อนไขที่ประกาศกับผู้สนใจคือ ถ้าราคาต่ำกว่าหุ้นละ 3 บาท ไม่ต้องติดต่อเจรจาให้เสียเวลา


กลุ่มจุฬางกูร เริ่มเป็นที่รู้จัก ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่หน้าใหม่ หลังจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถูกแปรรูปและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนธันวาคม 2544


เพราะรายชื่อผู้มีอุปการคุณที่ได้รับการจัดสรรหุ้น PTT ปรากฏชื่อของกลุ่มจุฬางกูรขึ้นมาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น กลุ่มจุฬางกูรได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นในบริษัทจดทะเบียน และอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนกว่า 20 แห่ง


แต่การลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มจุฬางกูร ส่วนใหญ่ขาดทุน หุ้นที่ถือไว้นับสิบตัว เป็นหุ้นที่กำลังมีสภาพตายซาก ผลประกอบการย่ำแย่ ราคาหุ้นทรุดหนัก


หุ้นที่ทำให้กลุ่มจุฬางกูรต้องเจ็บหนักคือ NOK เพราะถมเงินใส่เข้ามาเต็มตัว โดยเฉพาะการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2562 จำนวน 908.79 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท


กลุ่มจุฬางกูรทุ่มเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนเกินสิทธิ์


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ผู้ถือหุ้นใหญ่ NOK หรือผู้ถือหุ้นรายย่อยที่สละสิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน กลุ่มจุฬางกูร รับเหมาหมด ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นพุ่งขึ้นเป็นประมาณ 67 % ของทุนจดทะเบียน


เมื่อโต๊ะเจรจาขายหุ้น NOK ล่ม กลุ่มจุฬางกูรจึง “ติดดอย” เงินหลายพันล้าน จมอยู่ในหุ้นตัวนี้ จนกว่าจะมีทุนกลุ่มใหม่อยาก “ลองดี” กับสายการบินนกแอร์


คนทั่วไปคงคิดว่า เกือบ 20 ปีที่กลุ่มจุฬางกูรเข้ามาในตลาดหุ้น น่าจะกอบโกยเงินมากมาย แต่ถ้าเปิดพอร์ตลงทุนในหุ้นนับตัว กลุ่มจุฬางกูรเลือดสาดแทบทั้งสิ้น


ไม่ว่าจะเป็น NOK, GRAMMY, TTA , SE-ED , ITD , LANNA และหุ้นอื่น ๆ อีกมากมาย
 
กลุ่มจุฬางกูรอาจเก่ง ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ร่ำรวยเป็นหมื่น ๆ ล้าน แต่เข้ามาในตลาดหุ้น ตกอยู่ในข่ายเป็น "หมู" ดี ๆ นี่เอง


นักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้น NOK ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ จะเอาอย่างไรกับหุ้นตัวนี้ ถ้ากลุ่มจุฬางกูรอุ้มต่อไปไม่ไหว



กำลังโหลดความคิดเห็น