ปัญหาเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ มักจะวนเวียนอยู่ในชีวิตของหลายๆ คน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหนี้สิน เรียกว่าชีวิตนี้ทำงานใช้หนี้ยังไงก็ไม่หมดสักที หรือเป็นเรื่องมีเงินไม่พอใช้ หลายคนหาเงินเก่ง แต่ก็ใช้เก่งกว่า ถึงจะรายได้เพิ่มยังไงก็ไม่พอใช้สักที ที่น่าแปลกใจคือ เราเรียนหนังสือกันมาในโรงเรียน แทบทุกที่จะไม่มีการสอนเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลกันเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกสาขาอาชีพต้องเผชิญในชีวิตแน่นอน
คอลัมน์เสาเข็มการเงิน ก็เลยอยากจะชักชวนผู้อ่านลองมาเรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลกันดู เพื่อให้เราได้พบกับเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองและไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงในทางปฏิบัติ ก่อนที่เราจะเริ่มเรียนรู้กัน ขอย้ำไว้ก่อนว่า การเรียนรู้นั้นไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน อ่านคอลัมน์นี้ต่อเนื่องไปก็เข้าใจได้ไม่ต่างกับการไปเรียนตามคอร์สสอนต่างๆ แต่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงได้นั้น ต้องใช้วินัยทำอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายในแต่ละเป้าหมายของตัวผู้อ่านเอง
ก่อนอื่น เราต้องรู้จักเป้าหมายของเราก่อน เป้าหมายอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา เป้าหมายอะไรที่สำคัญรองลงไป หากเรายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราอาจจะกำลังใช้ชีวิตในแต่ละวันแบบล่องลอย เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านไป 5 ปี 10 ปีโดยยังไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าตอนเริ่มต้นก็เป็นได้ แล้วเป้าหมายเหล่านั้นมันจำเป็นต้องมีเงินมาเกี่ยวข้องมั้ย ซึ่งเป้าหมายของแต่ละคนจะมีความสำคัญในระดับที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับวัยของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน ยกตัวอย่างจากบางท่านที่ผู้เขียนเคยคุยเรื่องวางแผนการเงินด้วย เช่น
เป้าหมายของนักศึกษาปริญญาตรีบางท่าน 1.อยากเป็นไอดอลในคณะฯ 2.อยากเรียนจบแล้วได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ เงินเดือนเริ่มต้น 30,000 บาท 3.อยากมีอิสรภาพทางการเงินหลังอายุ 35 ปี
เป้าหมายของมนุษย์เงินเดือนอายุ 25 ปี 1.อยากมีรายได้มากกว่ารายจ่าย 2.อยากซื้อคอนโด 3.อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น 4.อยากมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท 4.อยากซื้อรถยนต์ของตัวเอง
เป้าหมายของพนักงานหญิงกินเงินเดือน ยังไม่แต่งงาน อีกท่านอายุ 35 ปี 1.อยากแต่งงาน 2.อยากมีบุตรสองคน 3.อยากออกจากงานไปเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 4.อยากปลดหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
เป้าหมายของพนักงานชายอีกคนที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกันกับผู้หญิงข้างบน แต่แต่งงานมีบุตรหนึ่งคน ตัวเค้าเองอายุ 40 ปี 1.อยากปลดหนี้บ้าน 2.อยากมีเงินเก็บมากพอให้กับการศึกษาของบุตร 3.อยากมีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้หากตกงานหรือเกษียณ
เป้าหมายของพนักงานในบริษัทเดียวกันแต่งงานแล้ว มีบุตรสองคน อายุ 55 ปี 1.อยากมีรายได้ต่อไปหลังเกษียณ (เพราะหนี้บ้าน หนี้ระยะยาวบางอย่างยังเหลืออีกมาก) 2.อยากมีเงินเก็บพอเพียงหากตกงาน (ไว้ใช้ยามป่วยไข้) 3.อยากมีสินทรัพย์มากพอที่จะให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคตเมื่อตัวเองเสียชีวิต
จะเห็นได้ว่า ต่างคน ต่างวัย ต่างสถานะ ก็อาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ แต่เป้าหมายของแต่ละคนล้วนแต่เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเขาเองมีความสุขสมหวัง ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่มีเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนต้องใช้เงินมากเงินน้อยก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานกับทัศนคติการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่คาดหวังไว้
บางเป้าหมายมันวัดกันลำบากว่าจะถึงเป้าหมายเมื่อไร เช่น เป้าหมายคือแต่งงานมีครอบครัวที่ดีมีความสุข (แต่งงานเมื่อไร ความสุขจะวัดกันอย่างไรว่าเพียงพอแล้ว) หรือเช่น เป้าหมายคือมีเงินร้อยล้านบาท (จะมีร้อยล้านบาทตอนไหน อายุ 40 ปี หรืออายุ 60 ปี)
แต่หากอยากจะวางแผนการเงินให้บรรลุเป้าหมายในทางปฏิบัติกันจริงๆ เราควรจะต้องตั้งเป้าหมายที่ระบุสามอย่างนี้ให้ชัดเจนก่อนก็คือ 1.เป้าหมายเป็นอะไร เช่น ต้องการมีชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน ต้องการปลดหนี้บัตรเครดิต 2.เป้าหมายตีเป็นยอดเงินเท่าไร เช่น อยากมีเงินเก็บหลังเกษียณสัก 5 ล้านบาท อยากมีเงินแต่งงานสัก 5 แสนบาท 3.เป้าหมายต้องสำเร็จเมื่อไร เช่น มีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอายุ 60 ปี อยากแต่งงานตอนอายุ 30 ปี
แต่ละเป้าหมายควรมีความชัดเจนสามอย่างข้างต้น ซึ่งคนคนหนึ่งอยากมีหลายเป้าหมายพร้อมๆ กันก็ได้ เช่น เป้าหมายแรกคือเกษียณตอนอายุ 60 ปี พร้อมเงินเก็บ 5 ล้านบาท เป้าหมายที่สองคือ ปลดหนี้บ้านที่ยังมีหนี้ค้างอยู่อีก 4 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าเพราะจะเกษียณแล้วจะไม่มีรายได้ผ่อนบ้านต่อแล้ว เป้าที่สามคือ ให้รางวัลเงินขวัญถุงแก่บุตรเมื่อเรียนจบปริญญาในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นเงิน 1 แสนบาท เป็นต้น
พอได้เป้าหมายแต่ละอย่างแล้ว ลองเรียงลำดับความสำคัญ เป้าหมายอันไหนจำเป็นที่สุดที่ต้องถึงให้ได้ก็ต้องเป็นเป้าหมายที่ต้องเน้นในทางปฏิบัติให้มากเป็นพิเศษ เช่นในตัวอย่างข้างบน เป้าหมายที่สามดูจะสำคัญน้อยที่สุดเพราะเมื่อบุตรเรียนจบ ถึงแม้จะไม่ได้มีเงินขวัญถุงให้เป็นรางวัล แต่อย่างน้อยก็ส่งบุตรศึกษาจนจบ
เป้าหมายที่สองก็สำคัญ เพราะถ้าเกษียณแล้วแต่ยังผ่อนบ้านไม่หมด ก็อาจต้องเอาเงินเก็บไปลงทุนมาผ่อนบ้านต่อ พลาดพลั้งในการลงทุนอะไรไป กระแสเงินสดไม่พอผ่อนบ้านหลังเกษียณก็อาจมีปัญหาตามมา แต่ก็อาจแก้ไขได้โดยขายที่อยู่อาศัยนั้นซะ แล้วหันไปเช่าแทนหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะเอายอดเงินจากการขายบ้านที่พอได้เงินก้อนกลับมาบ้าง มาบริหารให้เพียงพอแก่การเช่าที่อยู่อาศัยในแหล่งที่ที่เหมาะสม ซึ่งประเด็นหลักคือ ยังมีที่อยู่อาศัยและอยู่อย่างไม่มีปัญหาอื่นๆ มากระทบหลังเกษียณ
ซึ่งในตัวอย่าง เป้าหมายแรกก็ดูจะสำคัญที่สุด คือเกษียณแล้วมีเงินเก็บสัก 5 ล้านบาท (ตัวเลข 5 ล้านบาทสำหรับบางคนอาจจะน้อยเกินไป สำหรับบางคนอาจจะมากเกินไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการใช้ชีวิตและทัศนคติของแต่ละบุคคล) เพราะสมัยนี้อาจจะแตกต่างกับสมัยก่อนที่ว่า คนสมัยก่อนมีบุตรเยอะ เพราะเมื่อแก่ตัวไปจะได้มีบุตรมาดูแลตัวเองยามแก่ชรา เพราะสมัยนี้คนรุ่นใหม่โตมาในภาวการณ์แข่งขันเรื่องการงานสูงกว่าสมัยก่อน แถมรุ่นหลังๆ นอกจากต้องแข่งกับมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับเทคโนโลยีและแข่งกับหุ่นยนต์ในการทำงานอีก
รุ่นคุณพ่อของผู้เขียนเองนั้น สมัยก่อนจบปริญญาโทนั้นถือว่ามีอนาคตสดใสและมีงานดีเงินดีรออยู่แน่นอน แต่หากเป็นสมัยนี้จบปริญญาโทมานั้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ในการหางาน เพราะฉะนั้น การวางแผนเกษียณแล้วไม่ต้องเป็นภาระแก่คนรุ่นหลังเพราะอาจต้องดูแลตัวเองจนเข้าโลงนั้นมีสูง ยิ่งค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้นๆ ในอัตราที่เร็วกว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยซะอีก
หลังจากเรียงความสำคัญของเป้าหมายแล้ว เราก็จะนำเป้าหมายเหล่านั้นมาวางแผนคำนวณหากระแสเงินออมในแต่ละปีแต่ละเดือนว่าต้องใช้หรือต้องมีเท่าไรในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งตอนหน้าผู้เขียนจะนำตัวอย่างข้างบนมาคำนวณใส่ตารางให้ เพื่อให้ผู้อ่านมีตัวอย่างและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเป้าหมายตัวเอง ซึ่งหลังจากได้ตัวเลขเป้าหมายกระแสเงินออมแล้ว เรามาเรียนรู้เรื่องการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ซึ่งเป็นรากฐานเริ่มต้นของการจะบรรลุเป้าหมายในการวางแผนการเงินส่วนบุคคลกัน