การร้องทุกข์กล่าวโทษคดีสร้างราคาหุ้นหรือปั่นหุ้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่งจะมีคดีปั่นหุ้นบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด(มหาชน)หรือBLAND ที่นักลงทุนผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง
และคดีนี้ กำลังเปิดมุมในด้านมือของตลาดหุ้น ซึ่งไม่ถูกพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งให้คำแนะนำผิด ๆ และทำให้นักลงทุนจำนวนหลายแสนหรืออาจนับล้านคน ต้องพบกับหายนะ
เช่นเดียวกับนักลงทุนที่เสียหาย จากการที่อดีตเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด แนะนำให้ซื้อหุ้น BLAND และ BLAND -W4 หรือใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ BLAND รุ่นที่ 4
คดีฟ้องร้องการหลอกลวง ฉ้อโกงและปั่นหุ้น BLAND ไม่ใช่คดีฟ้องร้องทั่วไป แต่จะเป็นคดีที่จะนำไปสู่บรรทัดฐาน การปกป้องตัวเองของนักลงทุนที่เสียหายจากการถูกโบรกเกอร์ชักชวนให้ซื้อหุ้น
รวมทั้งการเปิดโปงขบวนการเชียร์หุ้นรายตัว และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องหมดเนื้อหมดตัวมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของการก่อตั้งตลาดหุ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์จึงต้องให้ความสำคัญกับคดีปั่นหุ้น BLAND นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาพิจารณา เพื่อวางมาตรการกำกับดูแลการให้คำแนะนำการลงทุนของโบรกเกอร์ ป้องกันความเสียหายของผู้ลงทุนที่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยกรณี BLAND
นายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้น BLAND และใบสำคัญแสดงสิทธิ์จองซื้อหุ้น BLAND ซึ่งยื่นฟ้อง นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบางกอกแลนด์ พร้อมพวก รวม 14 คน ในความผิดร่วมกันสร้างราคาหุ้นและฉ้อโกง
คำบรรยายฟ้องของนายบุญมาก ระบุว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนสิงหาคม 2561 จำเลยทั้ง 14 คน ซึ่งมีอดีตผู้บริหารและอดีตผู้บริหารฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้ร่วมกระทำผิดอาญาต่อโจทก์
เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ บล. เอเชีย เวลท์ได้โทรศัพท์ติดต่อ ขอให้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ต่อมาได้พาเข้าพบผู้บริหารฝ่ายการตลาดของบริษัทอีก 2 คน ซึ่งพูดจาหว่านล้อมขอให้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น โดยอ้างถึงประโยชน์และกำไรมากมาย จนโจทก์หลงเชื่อ
เมื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บล.เอเชีย เวลท์ ทั้งสองคนได้ชักชวนให้ซื้อหุ้น BLAND และวอแรนต์ BLAND รุ่นที่ 4 โดยระบุว่า เป็นหุ้นที่ดีและอนาคตสดใสมาก ถ้าซื้อสะสมไว้ จะทำกำไรได้มาก
นอกจากนั้น บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ ยังได้จัดรายการเยี่ยมชมบริษัท บางกอกแลนด์ เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้บริหารบริษัท
ต่อมา บล.เอเชีย เวลท์ ได้จัดรายการแลกเปลี่ยนพูดคุยเป็นการภายในกับผู้บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ โดยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ เดินทางมาพบปะพูดคุยกับลูกค้าของ บล.เอเชียเวลท์ และมีการให้ข้อมูลภายใน ซึ่งมีสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น แต่เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนทั่วไป
และการจัดสัมมนาอบรมให้ลูกค้าในหลายครั้ง บล.เอเชีย เวลท์ยังชักชวนให้ลูกค้า ซื้อหุ้น BLAND และ BLAND-W4 ซึ่งมีลูกค้าหลงเชื่อ และได้รับความเสียหายจากคำแนะนำของผู้บริหารฝ่ายการตลาด บล.เอเชียเวลท์
สาระสำคัญทั้งหมดของคดี BLAND มีเพียงประเด็นเดียวคือ คำแนะนำให้ซื้อหุ้น BLAND และ BLAND-W4 ของบล.เอเชียเวลท์
ข้อกล่าวหาร่วมกันปั่นหุ้นนั้น อาจจะเอาผิดกับนายอนันต์ และ บล.เอเชียเวลท์ไม่ได้ เพราะถ้าหุ้น BLAND เข้าข่ายการปั่น ก.ล.ต. คงกล่าวโทษไปแล้ว
แต่ข้อหาการร่วมกันหลอกลวง สร้างข้อมูลเท็จ ชี้นำให้นักลงทุนซื้อหุ้น BLAND และ BLAND-W4 ดูจากสำนวนฟ้องแล้ว อยู่ในข่ายที่จะเอาผิดได้
ถ้าพิสูจน์ว่า นายอนันต์สร้างข้อมูลเท็จ เพื่อจังจูงให้นักลงทุนซื้อหุ้น และเจ้าหน้าที่ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของ บล.เอเชีย เวลท์ ไม่ได้ให้คำแนะนำการลงทุนที่ถูกต้อง
แต่ชี้นำให้ลูกค้าแห่เข้าไปซื้อหุ้น เชียร์หุ้น BLAND อย่างไรเหตุผล
(อ่านตอนจบพรุ่งนี้)