หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ค่อนข้างเก็บตัว ไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวมากนัก เพิ่งจะตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถูกนักลงทุนยื่นฟ้องฐานปั่นหุ้น
นายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นฟ้องนายอนันต์ และพวกรวม 14 คน มีบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ติดร่างแหด้วย
โดยระบุว่า ทั้งหมดสมคบกันสร้างข่าวเท็จหลอกลวง และชักชวนให้ลูกค้าซื้อหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญรุ่นที่ 4 หรือ BLAND-W4 จนได้รับความเสียหาย
BLAND-W4 แจกฟรีให้ผู้ถือหุ้น กำหนดราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 2 บาท และซื้อขายในตลาดหุ้นครั้งสุดท้ายวันที่ 6 มิถุนายน 2561 โดยมีนักลงทุนใช้สิทธิแปลงสภาพน้อยมาก
จนเหลือวอแรนต์ที่ไม่ถูกนำมาแปลงสภาพอยู่เกือบ 7,000 ล้านหน่วย ซึ่งราคาถูกตีค่าเป็นศูนย์
บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ จำกัด ที่ติดร่างแหในคดีปั่นหุ้นบีแลนด์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงผู้บริหารในอดีต โดยผู้บริหารที่ถูกฟ้องพร้อม นายอนันต์ ประกอบด้วย นายกรณ์ โชติจิรภาส ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และนายธวัชชัย ทองดี ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นผู้บริหาร บล.เอเชียเวลท์ ในชุดเดียวกับ น.ส.ชญานี โปขันเงิน และนายชยันต์ อัคราทิตย์
ย้อนไปกว่า 20 ปีก่อน บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND เป็นหุ้นที่ติดอยู่ในทำเนียบหุ้นร้อนอันดับต้น ๆ ของตลาดหุ้นไทย ราคาเคยพุ่งทะยานขึ้นไปที่ 224 บาท/หุ้น ก่อนจะดิ่งลงเหวเหลือไม่กี่สิบสตางค์ หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และปัจจุบันยังไม่ฟื้น แต่มีความพยายามจุดพลุเก็งกำไรหุ้นตัวนี้เป็นช่วงๆ
ผลประกอบการ BLAND แม้จะกำไรต่อเนื่องหลายปีติดต่อ แต่ 3 ปีย้อนหลัง กำไรชะลอตัวตลอด โดยมี ค่าพี/อี เรโช ประมาณ 28 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนเกือบ 6%
จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยหุ้นตัวนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 21,831 คน ซึ่งส่วนใหญ่ติดหุ้นต้นทุนสูง โดยผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งถือไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2540 และอีกส่วนหนึ่งถือหุ้นติดมือไว้หลังปี 2540 ในช่วงที่มีการลากราคา
BLAND ไม่เคยมีประวัติถูกกล่าวโทษในคดีปั่นหุ้น แม้ในช่วงที่หุ้นร้อนแรงสุดขีดระหว่างปี 2535-2537 ก็ตาม โดยนายอนันต์เพิ่งถูกกล่าวหาปั่นหุ้นเป็นครั้งแรก
ในคำฟ้องนายอนันต์ พร้อมอดีตผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ ระบุถึงวอแรนต์รุ่นที่ 4 เป็นพิเศษ โดยกลุ่มนายอนันต์ ได้ประโยชน์จากการจัดสรรวอแรนต์ฟรีจำนวนมาก แต่นักลงทุนที่ถูกหลอกให้เข้าไปซื้อหุ้น BLAND และวอแรนต์รุนที่ 4 เสียหายอย่างหนัก
วอแรนต์ BLAND มีทั้งหมด 5 รุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำมาแปลงสภาพ เพราะราคาหุ้นตัวแม่ไม่จูงใจ เช่นเดียวกับวอแรนต์รุ่นที่ 4 ซึ่งนักลงทุนพากันสละสิทธิแปลงสภาพ เพราะช่วงหมดอายุ ราคาหุ้น BLAND ที่ซื้อขายในตลาดต่ำกว่า 2 บาท หรือต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ
วอแรนต์ BLAND เป็นเพียงวอแรนต์หนึ่งในจำนวนวอแรนต์นับร้อยๆ ตัว ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้น และเป็นเครื่องจักรในการปั๊มธนบัตรให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน
จะออกเมื่อไหร่ จะออกกี่ชุด ไม่มีข้อห้าม จนบางบริษัทออกมาถึง 6-7 รุ่น
วอแรนต์เริ่มต้นจากเป็นศูนย์ เพราะมักจะแจกฟรี แต่สุดท้ายจบลงที่ศูนย์ เพราะเมื่อหมดอายุ ราคาหุ้นตัวแม่บนกระดานไม่จูงใจให้ใช้สิทธิแปลงสภาพ เช่นเดียวกับวอแรนต์ BLAND รุ่นที่ 4
แต่ระหว่างทาง หรือในช่วงที่วอแรนต์ยังไม่หมดอายุ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรจำนวนมากจะทยอยขายวอแรนต์ทำกำไร ปล่อยให้แมงเม่าเข้ามารับวอแรนต์ถือต่อ และถือวอแรนต์ตายคามือเหมือนกับวอแรนต์ BLAND
การฟ้องนายอนันต์ และพวก รวมทั้งอดีตผู้บริหาร บล.เอเชียเวลท์ ในคดีปั่นหุ้น BLAND และวอร์แรนต์รุ่นที่ 4 เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ความผิด ตามกระบวนการยุติธรรม แต่การออกวอแรนต์เพื่อปั่นหุ้น หรือใช้เป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องเข้ามากำกับดูแล
กว่า 30 ปีแล้ว ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนใช้วอแรนต์เป็นเครื่องมือในการปล้นเงินจากตลาดหุ้น มีการออกวอแรนต์รวมแล้วหลายร้อยตัว แต่ทำไม ก.ล.ต.จึงไม่ตระหนักในความเสียหายของประชาชนผู้ลงทุน
ทำไม ก.ล.ต.จึงไม่คิดทำลายวงจรอุบาทว์ของวอร์แรนต์ และทนดูประชาชนผู้ลงทุนเป็นหมูถูกวอแรนต์เชือดมากว่า 30 ปีได้อย่างไร