ระบบการกู้ยืมเงินยุคใหม่ด้วย Digital Lending แก้ปัญหาช่องโหว่ประชาชนถูกคัดออกจากระบบการให้บริการทางการเงิน หรือเข้าไม่ถึงการเงินขั้นพื้นฐาน ประเมินเครดิตผู้กู้ออนไลน์ และ การสร้างช่องทางออนไลน์สำหรับ การให้บริการขอกู้สินเชื่อ เอื้อให้ผู้ขอกู้และผู้ให้กู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และโปร่งใส
อิทธิกร พ่วงโกศล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบการกู้ยืมเงิน (Lending) บนโลกเราได้ถูกพัฒนาไปมาก การประเมินความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้โดยดั้งเดิมนั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มักพิจารณาจากสองปัจจัย ได้แก่ ความสามารถในการชำระหนี้ (Ability to Repay) และความตั้งใจในการชำระหนี้ (Willingness to Repay) ซึ่งล้วนถูกสะท้อนมาจาก Credit Score ที่เป็นคะแนนจากการพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลต่างๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา หน้าที่การงาน ประวัติการขอสินเชื่อ และพฤติกรรมการชำระเงินคืนในอดีต ทั้งนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่ง อาจมีเกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของแต่ละปัจจัยที่จะให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ฝาก กู้ โอน และชำระเงิน ได้อย่างครบถ้วน (Unserved and Underserved) เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 40 ของคนทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 27.6 ล้านคน และหากเจาะลึกลงไปถึงบริการกู้เงิน จะพบว่าคนจำนวนกว่าร้อยละ 25 หรือประมาณ 17 ล้านคนของทั้งประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่ให้บริการโดยสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร และมีหน่วยงานภาครัฐควบคุมดูแลได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนเกือบครึ่งของประเทศกำลังถูกคัดออกจากระบบการให้บริการทางการเงิน ซึ่งมีสาเหตุหลายประการไม่ว่าจะเป็นการขาดความรู้ทางการเงิน มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ประจำสม่ำเสมอ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินได้ คำถามที่สำคัญคือ คนเกือบครึ่งประเทศที่ถูกคัดออกไปนั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีคุณสมบัติจริงๆ หรือไม่ และเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถได้รับทางเลือกของโอกาส ที่จะเข้าถึงบริการทางการเงินได้
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความพยายามในการสร้างให้เกิด Financial Inclusion หรือการสร้างบริการที่ถือเป็นทางเลือกของโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครบถ้วนและทั่วถึง ซึ่งสำหรับบริการการขอกู้สินเชื่อนั้น จากการรวบรวมกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พบว่า มีสองปัจจัยที่สามารถสร้างให้เกิด Financial Inclusion นั้นได้แก่ การประเมินเครดิตของผู้กู้โดยการใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่ประกอบการพิจารณา (Information-based Lending) และการสร้างช่องทางออนไลน์สำหรับ การให้บริการขอกู้สินเชื่อ (Digital Lending) ที่เอื้อให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และโปร่งใส
สำหรับปัจจัยแรก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของแนวทาง Information-based Lending คือ การใช้คะแนนเครดิตทางเลือก (Alternative Credit Score) ที่มีแนวคิดมาจากการใช้ข้อมูลพฤติกรรมทางสังคมเป็น ตัวประเมินความเสี่ยงของผู้ขอกู้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมบน Social Media หรือพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชัน ทาลา (Tala) ซึ่งเป็น Start-up ที่สร้างคะแนนเครดิตทางเลือก (Alternative Credit Score) และใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการปล่อยสินเชื่อ Micro Loan ที่มีวงเงินสูงสุดเทียบเท่าประมาณ 15,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนา เช่น เคนยา แทนซาเนีย และฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบัน Tala ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับลูกค้ากว่า 1 ล้านคนทั่วโลก ตัวอย่างของข้อมูลที่ Tala นำมาใช้วิเคราะห์ เช่น ความสัมพันธ์ของจำนวนแอพพลิเคชันประเภท Social Media กับความน่าจะเป็นที่ผู้กู้จะชำระหนี้ตรงเวลา โดยจากสถิติการเก็บข้อมูลผู้กู้ของ Tala พบว่า ถ้าผู้กู้มีแอพพลิเคชัน Social Media ในมือถือมากกว่า 23 แอพพลิเคชัน ผู้กู้รายนั้นจะมีแนวโน้มในการชำระหนี้ลดลงถึงร้อยละ 20 เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์เหล่านี้ อาจดูไม่เกี่ยวข้องกับการเงินโดยตรง แต่แก่นสำคัญอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้จากแบบจำลองข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมา (Machine Learning) ซึ่งผลลัพธ์คือ ความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูล ที่จะช่วยให้ประเมินผู้กู้ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างช่องทางออนไลน์สำหรับการให้บริการขอกู้สินเชื่อ (Digital Lending) ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิด Financial Inclusion ได้ เนื่องจากจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ต้นทุน หรือแม้กระทั่งการสร้างความโปร่งใสได้ โดยรูปแบบของ Digital Lending ในปัจจุบันทั่วโลกนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับโครงสร้างตลาด และกฎระเบียบข้อบังคับในแต่ละภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม หากยึดลักษณะการแบ่งประเภทตามแบบของ Accion International ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีจุดประสงค์หลักในการผลักดันให้เกิดบริการทางการเงินที่ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคนั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภทหลัก ดังนี้
Online Lender คือการปล่อยกู้ผ่านช่องทาง Digital ทั้งกระบวนการ แบบ End-to-End เช่น Lidya Tala Branch เป็นต้น
P2P Lending Platform คือการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยมี platform เป็นตัวกลางทำธุรกรรมระหว่างกัน เช่น CreditEase KwikCash เป็นต้น
E-Commerce and Social Platform คือการที่ platform E-Commerce หรือ Social Media ปล่อยกู้ให้กับผู้ใช้งานแอพพลิเคชันของตัวเอง โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของลูกค้าเป็นเครื่องประเมิน ความเสี่ยง เช่น Amazon WeChat เป็นต้น
Marketplace Platform มีลักษณะคล้าย P2P Platform แต่จะต่างกันตรงที่ผู้กู้และผู้ให้กู้จะมาเจอกัน และทำธุรกรรมการกู้เงินระหว่างกันโดยตรง เช่น LoanFrame เป็นต้น
Supply Chain Lender คือการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อจุดประสงค์ในการซื้อวัตถุดิบจาก Supplier ของตน เช่น M-Kopa Solar เป็นต้น
Mobile Money Lender คือการเข้าเป็นพันธมิตรกับบริษัทเครือข่ายมือถือเพื่อปล่อยกู้ให้กับฐานลูกค้าของเครือข่าย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้ามาเป็นเครื่องประเมินความเสี่ยง เช่น Kopo Kopo เป็นต้น
Tech-Enabled Lender คือการที่บริษัทผู้ให้บริการกู้ยืมเงินทั่วไป มีการนำ technology มาใช้ในบางขั้นตอนของการปล่อยสินเชื่อ เช่น Aye Finance เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีโอกาสและศักยภาพในการพัฒนา Digital Lending Landscape อีกมาก โดยในปัจจุบัน เราเริ่มได้เห็นการพัฒนาความร่วมมือ และบริการทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกันระหว่าง Krungsri Consumer และ Six Network ซึ่งเป็นเครือข่าย start-up ที่ทำงานอิสระด้านการสร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลทางเลือกประกอบการพิจารณา (Information-based Lending) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนชิ้นงาน รายได้ที่รับจริงจากการให้บริการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นต้น หรือ PeerPower ซึ่งเป็น P2P Lending Platform ของไทยที่ทำการจับคู่นักลงทุน (ผู้ให้กู้) และผู้กู้มาเจอกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ความร่วมมือและบริการใหม่ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การเข้ากำกับดูแลผู้ให้บริการเหล่านี้ ในแง่ของความพร้อมทั้งเรื่องเทคโนโลยีหรือกระบวนการดูแลลูกค้า ก่อนที่จะมีการอนุญาตเปิดให้บริการจริงในวงกว้าง โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มมีการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform แล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในมุมของผู้ให้บริการคือ การทำให้ผู้ใช้เกิดความคุ้นเคยและรู้สึกสบายใจที่จะใช้งาน ผ่านการสร้างความโปร่งใส่ให้เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือตัวผู้ใช้หรือผู้บริโภคนั่นเอง หากผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง หนี้นอกระบบก็จะลดลง และเป็นผลไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนได้ในระยะยาว