xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) บล.กสิกร มองหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลโต 8% แต่ Q2 กำไรอาจร่วงจากรายจ่าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คุณปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ ผอ.อาวุโส บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย
หลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังมีอนาคตดี จากการเติบโตในกลุ่มผู้ป่วยเงินสด และผู้ใช้บริการที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ชี้ปัญหาราคาสินค้าและบริการจะไม่บานปลาย เชื่อมั่น กกร. จะไม่ออกมาตรการที่กระทบต่อการกำหนดราคายา คาดไตรมาส 2 อาจกำไรวูบเหตุมีวันหยุดมาก และกฎหมายสำรองจ่ายผลประโยชน์พนักงานหลังเกษียณที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้

นางสาวปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ ผอ.อาวุโส บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวถึงมุมมองภาพรวมต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลว่า มุมมองของ หลักทรัพย์กสิกรไทยยังคงมุมมองเป็น “กลาง” ต่อกลุ่มโรงพยาบาล โดยเลือก BCH เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม เนื่องจากรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลที่มี อัตราการเติบโตระดับเลขหลักหน่วยบนกรอบสูง โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลของทั้งกลุ่มโดยรวมจะเติบโตขึ้น 7.8% ในปี 2562 และ 7.7% ในปี 2563 สอดคล้องกับ 7.7% ในปี 2561 โดยประเมินว่าการเติบโตในกลุ่มผู้ป่วยเงินสดที่ 5-9% ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ และการเติบโตของรายได้กลุ่มประกันสังคมที่ฟื้นตัวขึ้นเป็น 2-7% จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2562-63 ทั้งนี้ คาดว่าทุกโรงพยาบาลจะมีส่วนแบ่งรายได้ตลาดที่ทรงตัวถึงสูงขึ้น ยกเว้น BH ที่คาดว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งรายได้ตลาด

ขณะที่ภาพรวมอัตรากำไรที่คละกัน โดยเฉพาะอัตรากำไรของหุ้นกลุ่มการแพทย์มีภาพรวมที่คละกัน มีเพียง BCH และ BDMS ที่คาดว่าจะมีอัตรากำไรขาขึ้น ทั้งในแง่ของการดำเนินงานและกำไรสุทธิ โดยมีแรงหนุนมาจากขนาดกิจการที่ขยายใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ดีคาดว่า CHG และ PR9 จะมีอัตรากำไรที่ลดลง จากการเปิดให้บริการโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่คาดว่าอัตรากำไรของ THG จะมีความผันผวนมากที่สุด สืบเนื่องจากแผนการกระจายความเสี่ยงของบริษัทฯ ในด้าน RJH คาดว่าจะมีอัตรากำไรที่ปรับดีขึ้นในแง่ของกำไรสุทธิ ขณะที่มองว่าอัตรากำไรการดำเนินงานจะมีความผันผวน

ในส่วนของปัญหาด้านราคาสินค้าและบริการคาดว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมราคา แต่จะยังคงเป็นประเด็นค้างคาต่อไป โดยเชื่อว่าคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะไม่ออกมาตรการที่กระทบต่อการกำหนดราคายา เวชภัณฑ์ หรือบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ทำการตรวจสอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปสำหรับประเด็นนี้ ซึ่งหากมาตรการต่างๆ แสดงให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจมีการออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจเรียกร้องมาตรการเชิงรุกมากขึ้น

ขณะที่ความกังวลด้านโรคระบาดในไตรมาส 1/62 ซึ่งจากที่ผ่านมาพบว่าแม้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคท้องร่วง (ไวรัสโรต้า) ในไตรมาส 1/2562 แต่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก โดยจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้นจากโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกในไตรมาส 1/2562 รวมกัน อยู่ที่ 115,980 เคส หรือคิดเป็น 88% ของจำนวนการเพิ่มขึ้นของเคสโรคท้องร่วงในไตรมาส 1/2561

ขณะที่การแพร่ระบาดดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เราวิเคราะห์อยู่เกือบทั้งหมดน่าจะได้ประโยชน์จากการระบาดของโรค โดยเฉพาะ BCH และ BDMS ซึ่งมีสาขาอยู่ในภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีต จะพบว่าการแพร่ระบาดของโรคในไตรมาส 1 ของปีจะไม่ได้หมายความว่าจำนวนเคสการรักษาของแต่ละโรคจะทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วง high season ของแต่ละโรค (ปกติคือช่วงฤดูฝน)

ทั้งนี้ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 ซึ่งเป็นช่วงขาลงที่มีแรงกดดันด้านค่าใช้จ่าย ปกติแล้วไตรมาส 2 จะเป็นช่วงขาลงสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเพราะมีวันหยุดมาก ทำให้กำไรลดลงเทียบระหว่างไตรมาสต่อไตรมาส จากรายได้และอัตรากำไรที่ลดลง แต่โตขึ้นหากเทียบระหว่างปีก่อนหน้าจากรายได้และอัตรากำไรที่สูงขึ้น

"โรงพยาบาลที่วิเคราะห์ทุกบริษัทฯ น่าจะมีการบันทึกสำรองผลประโยชน์พนักงานหลังเกษียณในไตรมาส 2/2562 เพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) สูงขึ้นและกดดันกำไรสุทธิของบริษัท แต่จะไม่กระทบ EBITDA "


กำลังโหลดความคิดเห็น