ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้ ชอร์ตเซล ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยรายการชอร์ตเซล NVDR กันอย่างคึกคักจากนักลงทุนต่างประเทศ
NVDR เกิดขึ้นมาประมาณ 20 ปีแล้ว เพื่อเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่มีข้อจำกัด สัดส่วนการถือครองหุ้นของต่างชาติ โดยไม่เสียสิทธิในผลประโยชน์จากเงินปันผล หรือสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ก่อนหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์จะออก NVDR นักลงทุนต่างชาติต้องประสบปัญหาการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่สัดส่วนการถือครองหุ้นเต็มเพดานที่กำหนด โดยธนาคารพาณิชย์กำหนดเพดานการถือครองหุ้นของต่างชาติไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียน
บริษัทจดทะเบียนทั่วไป มักกำหนดเพดานไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน แต่บางบริษัทฯ อาจกำหนดเพดานที่ต่ำกว่า
หุ้นที่ต่างชาติสามารถซื้อขาย โดยไม่ติดข้อจำกัดสัดส่วนการถือครอง จะต้องซื้อขายในกระดานต่างประเทศโดยเฉพาะ โดยมีเครื่องหมาย F ไว้ท้ายชื่อหุ้น ซึ่งราคาหุ้นในกระดานต่างประเทศ มักสูงกว่าราคากระดานหลัก
เมื่อสัดส่วนการถือครองหุ้นเต็มเพดาน และนักลงทุนต่างชาติไม่ต้องการซื้อหุ้นในกระดานต่างประเทศ ก็จะซื้อหุ้นในกระดานหลัก ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่จะติดปัญหา เพราะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล ไม่ได้สิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น
ในอดีต ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มักจะมีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเต็มเพดานที่กำหนดไว้ 25% ของทุนจดทะเบียน ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่สนใจลงทุนหุ้นธนาคาร ไม่สามารถลงทุนได้ ตลาดหลักทรัพย์จึงออก NVDR มาแก้ปัญหา
นักลงทุนต่างชาติ สามารถลงทุนผ่าน NVDR โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากบริษัทจดทะเบียนเทียบเท่าผู้ถือหุ้นทั่วไป เพียงแต่ไม่มีสิทธิโหวตเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น
การซื้อหุ้น NVDR เป็นการซื้อหุ้นสามัญเช่นเดียวกับนักลงทุนภายในประเทศ เพียงแต่ต่างชาติอาจแจ้งในคำสั่งซื้อว่า ต้องการนำหุ้นเข้า NVDR เพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์
ส่วนนักลงทุนในประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ NVDR เพราะได้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างจากการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว
ก่อนหน้า NVDR ไม่สามารถทำชอร์ตเซลได้ เพราะตลาดหลักทรัพย์ไม่อนุญาต และแม้โบรกเกอร์จะขอยืม NVDR มาทำชอร์ตเซล แต่ถือว่าผิดกฎ ถูกตลาดหลักทรัพย์ปรับกันเป็นแถว โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่ทำ NAKED SHORT
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้ทำชอร์ตเซล NVDR และทุกโบรกเกอร์ได้สิทธิโดยเท่าเทียม แต่ก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโบรกเกอร์ขึ้นมาอีก
เพราะโบรกเกอร์ที่ไม่มีโบรกเกอร์ต่างประเทศเป็นพันธมิตรร่วมทุน จะเสียเปรียบ เพราะต้นทุนการทำชอร์ตเซล NVDR แตกต่างกัน
โบรกเกอร์ที่มีพันธมิตรต่างชาติ สามารถยืม NVDR จากคัสโตเดียน หรือผู้ดูแลหุ้นแทนนักลงทุนในต่างประเทศ โดยมีต้นทุนการยืมหุ้นที่ต่ำกว่า โดยอาจจ่ายค่ายืมหุ้นประมาณ 1.5% ต่อปี ขณะที่โบรกเกอร์ในประเทศอาจจ่ายค่ายืมหุ้นในอัตรา 4%-5% ต่อปี
ความเสียเปรียบในด้านต้นทุนการยืมหุ้น เพื่อทำชอร์ตเซล NVDR ทำให้โบรกเกอร์ขนาดเล็กบางราย พยายามเคลื่อนไหว โจมตีการเปิดชอร์ตเซล NVDR เพราะตัวเองเสียประโยชน์ และแข่งขันสู้โบรกเกอร์ที่มีพันธมิตรต่างชาติร่วมทุนไม่ได้
ชอร์ตเซล NVDR ไม่แตกต่างจากการชอร์ตเซลหุ้นสามัญเดลิเวทีฟวอร์แรนต์ (DW) และบล็อกเทรดเท่าใดนัก เพราะส่งผลกระทบต่อหุ้นในกระดานหลักหรือหุ้นอ้างอิงเหมือนกัน
ถ้าไม่ต้องการผลกระทบจากชอร์ตเซลหรือตราสารอ้างอิง ต้องยกเลิกธุรกรรมเหล่านี้ทั้งหมด
อันที่จริง ตลาดหุ้นบางแห่งไม่ได้มีตราสารอ้างอิงและกระตุ้นการเก็งกำไรมากมายนัก
แต่ตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์เพื่อการเก็งกำไรอย่างครบเครื่อง และชอร์ตเซล NVDR เป็นอีกธุรกรรมของการเก็งกำไรหุ้นขาลงล่าสุด