xs
xsm
sm
md
lg

ถล่มขาย ECF ก่อนข่าวร้าย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หุ้นบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2561 เกี่ยวกับพฤติกรรมของ นายกระทรวง จารุศิระ นักลงทุนรุนใหม่ เจ้าของโครงการซูเปอร์เทรดเดอร์ ซึ่งครอบครัวถือหุ้นอยู่ในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

การขุดคุ้ยพฤติกรรมการลงทุนใน ECF ของนายกระทรวง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงอย่างหนักและต่อเนื่อง

จากราคาที่เคยพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดในรอบปีที่ 9.20 บาท เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ทรุดลงจนแทบจะหลุด 2 บาท โดยดิ่งลงกว่า 70%

ครอบครัว "จารุศิระ" ได้ทยอยขายหุ้น ECF จนหมดเกลี้ยงไปแล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่การขายหุ้นของกลุ่มจารุศิระ ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้รูดลงมากองอยู่กับพื้น

เพราะการเทขาย เกิดขึ้นหลังจากที่ราคาหุ้นดิ่งเหวลงมาแล้ว

ECF ถูกทุบจมดินด้วยเหตุใด นักลงทุนกลุ่มใดเป็นคนถล่มขาย คำตอบอาจเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้า

วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ECF ได้มีการประชุม และมีมติยกเลิกการเข้าลงทุนในบริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) จำกัด การเพิ่มทุนและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้บริษัท เอสเทรคฯ เนื่องจากที่ปรึกษาทางบัญชีได้ตรวจสอบงบการเงินพบว่า การบันทึกบัญชีของเอสเทรคฯ ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี

การเข้าลงทุนในบริษัท เอสเทรคฯ เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ECF เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 โดยจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 51% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งจะรับโอนหุ้นจากนายจิรศักดิ์ เปรมพจน์วัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่ "เอสเทรคฯ" จำนวน 15.30 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 10 บาท คิดเป็นมูลค่าหุ้นรวม 510 ล้านบาท

และจะนำหุ้นเพิ่มทุนแลกในสัดส่วน 1 หุ้น เอสเทรคฯ ต่อ 4.7619 หุ้น ECF ซึ่งกำหนดราคาหุ้น ECF ไว้ที่ 7 บาท

มติการร่วมลงทุนในบริษัท เอสเทรคฯ เป็นข่าวที่กระตุ้นให้ราคาหุ้น ECF ทะยานขึ้น จากประมาณ 7 บาท พุ่งขึ้นไปที่ 9.20 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% โดยนักลงทุนแห่เก็งกำไรอย่างคึกคัก แต่เล่นกันเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น และนับตั้งแต่ต้นเดือน ตุลาคม 2561 ถูกถล่มขาย จนราคาลงมาม้วนเดียว ก่อนจะหลุดไปต่ำสุดที่ 2.38 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

ECF เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดและไม้ยางพารา การดำเนินธุรกิจแม้จะมีรายได้และกำไรต่อเนื่อง แต่ไม่โดดเด่น

โดยปี 2561 มีกำไรสุทธิ 33.76 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 73.05 ล้านบาท ค่า พี/อี เรโช อยู่ที่ 69 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง โดย "กลุ่มสุขสวัสดิ์" ถือหุ้นใหญ่ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 5,922 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 48.65%

ผลประกอบการ ECF ที่ชะลอตัว อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนถล่มขายหุ้นทิ้ง แต่ทำไมแรงขายจึงไหลทะลักออกมา

ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมปีก่อน ทั้งที่บริษัทยังไม่แจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ด้วยซ้ำ

และข่าวการยกเลิกร่วมลงทุนในบริษัท เอสเทรคฯ ก็ไม่เคยระแคะระคายออกมา โดยนักลงทุนเพิ่งรับรู้ เมื่อบริษัทฯ แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

การประกาศร่วมลงทุนในบริษัท เอสเทรคฯ เคยเป็นปัจจัยที่กระตุ้นราคาหุ้น ECF เมื่อยกเลิกมติ จึงเป็นปัจจัยลบ แต่นักลงทุนทั่วไปได้รับรู้ข่าวร้าย เมื่อราคาหุ้นนอนสลบเหมือดแถว 2 บาทต้นๆ แล้ว

จะมีใครใช้อินไซด์มาเอาเปรียบนักลงทุน โดยชิงเทขายหุ้นทิ้งก่อนหรือไม่ คงปรักปรำไม่ได้เต็มที่ แต่ความเสียหายที่นักลงทุนได้รับ เพราะแห่เก็งกำไรตามข่าวการร่วมทุนกับบริษัท เอสเทรคฯ ครั้งนี้ เป็นอีกบทเรียนที่จะต้องจดจำไว้เตือนใจ

และอย่าได้ผลีผลามแห่เก็งกำไรตามข่าวดีที่บริษัทจดทะเบียนประกาศ เพราะไม่ว่าจะเป็นข่าวดีเรื่องอะไรบริษัทจดทะเบียน สามารถยกเลิกได้ และทำให้แมลงเม่ากลายเป็นซากในกองเพลิง

การประกาศยกเลิกมติการร่วมทุนกับบริษัท เอสเทรคฯ ของคณะกรรมการ ECF เป็นอีกช่องโหว่ที่บริษัทจดทะเบียนอาจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้นได้

เพราะบริษัทจดทะเบียนที่เจตนาไม่ดี อาจสร้างธุรกรรมบางประเด็นขึ้นมา เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น และประกาศล้มเลิกในภายหลัง ทำให้นักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรจากการประกาศดำเนินธุรกรรมต้องได้รับความเสียหาย

ส่วนนักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้น ECF เพราะการประกาศร่วมลงทุนในบริษัท เอสเทรคฯ ทุกคนต้องบาดเจ็บสาหัส และไม่รู้จะแจ้งความเอาผิดกับใคร



กำลังโหลดความคิดเห็น