xs
xsm
sm
md
lg

วีซ่าเผยคนไทยมั่นใจเงินดิจิทัลมากขึ้น-แนะอี-คอมเมิร์ชปรับตัวรับเกณฑ์ภาษี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ วีซ่า ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่าเกี่ยวกับพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์สำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว คนไทยมีความเชื่อมั่นและใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยผลการสำรวจระบุ 57%ของผู้บริโภคชาวไทยนิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น บัตรเดบิต/เครดิต แอพพลิเคชั่น การชำระเงินบนสมาร์ทโฟน หรือคิวอาร์โค้ด ที่เหลืออีก 43%ยังนิยมใช้เงินสด

นอกจากนี้ ยังพบว่า จำนวน 2 ใน 5 ของคนไทย(42% )มีการพกเงินสดน้อยลงในช่่วงปี 60 ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 26% โดยสาเหตุหลักๆมาจากความไม่ปลอดภัยในการพกพาเงินสด ใช้ชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และความไม่สะดวกในการใช้เงินสด ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจยังพบอีกว่า มีคนที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวนั้น กว่า 60% สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หนึ่งวันโดยไม่ต้องใช้เงินสด และมีจำนวนถึง 45%ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยได้นานกว่า 3 วัน

โดยภาพรวมแล้ว มีคนไทยจำนวนมากขึ้นที่แสดงความมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ซึ่งกว่าหนึ่งในสาม (29%) มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ภายในสามปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 มีเพียง 11%เท่านั้น และกว่า 39% เชื่อว่าจะใช้เวลา 4-7 ปีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด ในขณะที่คนไทยราว 6% เห็นว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี

"การที่คนไทยมีความเชื่อมั่น และใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมผลักดันระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับมีร้านค้าที่รับชำระเงินทางดิจิตอลมากขึ้น แม้ร้านค้าขนาดเล็กก็สามารถรับชำระผ่านคิวอาร์โค้ดได้ ขณะที่การช้อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งผู้ซื้อใช้ช่องทางการชำระเงินทั้งผ่านสมาร์ทโฟน และยังมีการใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าอยู่พอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความที่ยังไม่เชื่อมั่นในสินค้าหรือผู้ขาย จึงต้องใช้การชำระเงินปลายทางอยู่ แต่ในอนาคตก็น่าจะหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นหากมีอุปกรณ์ที่ใช้อำนวนความสะดวกเข้ามาช่วย"

นอกจากนี้ เชื่อว่าการขยายตัวของผู้ใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะยังเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยเปิดรับกับรูปแบบการชำระเงินใหม่ๆเสมอ อาทิ การสำรวจความสนใจจะทดลองชำระเงินด้วยระบบไร้สัมผัสผ่านบัตร มีผู้สนใจทดลอง 79% ลองก็ได้ไม่ลองก็ได้ 16% และไม่สนใจ 5% อีกทั้งเชื่อว่าจากนโยบายผลักดันจากภาครัฐที่จะขยายช่องทางดังกล่าวไปยังระบบจนส่งสาธารณะและการชำระค่าทางด่วน หรือการเพิ่มเครื่องชำระเงินด้วยตนเองและคอนเซ็ปต์ร้านค้าแบบไร้รอยต่อ ก็จะทำให้ชาวไทยใช้ช่องทางดิจิทัลในการชำระเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

นายสุริพงษ์กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดี และทำให้มั่นใจได้ว่าเราได้เดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการแสดงให้ผู้บริโภคและร้านค้าตระหนักถึงประโยชน์จากการชำระเงินรูปแบบดิจิตอล ซึ่งเชื่อว่าในขณะเดียวกันเรายังคงมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศน์การชำระเงิน และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ จากเครือข่ายของวีซ่าทั่วโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างเต็มตัว

สำหรับเกณฑ์การเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ที่ออกมานั้น นายสุริพงษ์กล่าวว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าไประยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าจะเป็นในระยะสั้นเท่านั้น หากทางฝั่งผู้ซื้อยังมีดีมานด์อยู่ ทางฝั่งผู้ขายก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับความต้องการลูกค้าให้ได้ ยกตัวอย่าง แต่ก่อนนี้ร้านค้าไม่อยากรับบัตรเครดิตเพราะคิดว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้ออก แต่เมื่อบัตรเครดิตแพร่หลายลูกค้ามีความต้องการอยากใช้ในที่สุดร้านค้าก็ต้องมี เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีความโปร่งใส เพื่อเป็นรากฐานที่ก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น