xs
xsm
sm
md
lg

กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย แต่ลด GDP เหลือ 3.8% ปิดโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปี 62

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 20 มีนาคม 2019 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ประกอบกับ “ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน” จึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อ “รอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น”

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง และยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น เมื่อดูรายงานผลการประชุมและตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจในรอบนี้พบว่า กนง. ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิม แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม “ขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ”

ทั้งนี้ กนง. ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 ลงจาก 4.0% มาอยู่ที่ 3.8% สอดคล้องกับที่อีไอซีประเมินไว้ก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ กนง. ปรับลดประมาณการมาจากการส่งออกสินค้า การอุปโภคและการลงทุนภาครัฐ โดยประมาณการตัวเลขส่งออกปรับลดจาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.0% เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สำหรับประมาณการการลงทุนภาครัฐถูกปรับลดจาก 6.6% มาอยู่ที่ 6.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ส่วนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น กนง. ยังคงประมาณการไว้เท่าเดิมที่ 1.0% ในปีนี้ โดยมีราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนเป็นปัจจัยเสริม และช่วยชดเชยผลของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม

สำหรับตัวเลขประมาณการปี 2563 ซึ่งถูกเผยแพร่ในการประชุมรอบนี้เป็นครั้งแรกพบว่า กนง. คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2020 อยู่ที่ 3.9% ขยายตัวจากปีนี้เล็กน้อย โดยการส่งออกที่จะขยายตัว 4.1% การลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 6.6% และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัว 5.0% เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า (รูปที่ 1)

กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลาย และยังคงแสดงความกังวลต่อความเปราะบางในระบบการเงิน โดย กนง. สื่อสารว่า “ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ” ซึ่งสะท้อนผ่านภาคเอกชนที่สามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ กนง. ยังได้สื่อสารถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลง แต่ยังคงข้อความที่ว่า “ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด” ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงประเมินว่าเสถียรภาพโดยรวมยังคงดี แต่มีความกังวลเกี่ยวกับความพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยนอกจากมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) แล้ว กนง. ยังได้กล่าวถึงมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) ที่อาจถูกใช้ควบคู่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต่อไป


อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่า กนง. น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมาก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่โอกาสในการปรับขึ้นมีน้อยลงหลังมีการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีประเมินว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมาก 1 ครั้งในปีนี้ โดยขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ส่วนจังหวะในการปรับขึ้นน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ในภาพรวม อีไอซีเชื่อว่า กนง. ยังมีความตั้งใจที่ทยอยลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่า จังหวะเวลาที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารโดยรัฐบาลชุดใหม่ เพราะถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงในอาทิตย์นี้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนและอาจกินเวลาถึงเดือนมิถุนายน กนง. จึงน่าจะรอประเมินนัยของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจก่อน

ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่า โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลดน้อยลงกว่าเดิมหลังมุมมองของ กนง. ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับแย่ลงสะท้อนจากประมาณการเศรษฐกิจที่ถูกปรับลง นอกจากนั้น อีกปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ กนง. ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ได้คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพราะถึงแม้ กนง. จะยังคงประมาณการสำหรับปีนี้ไว้ที่ 1% เท่าเดิม แต่อีไอซีมองว่า มีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อทั่วไปจะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% ต่อปีได้จากราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มจะต่ำกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้หากการขึ้นดอกเบี้ยถูกชะลอออกไป กนง. ก็จะให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการใช้มาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ในการดูแลความเปราะบางเฉพาะจุด

ขณะเดียวกันหากจับตาดูการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่อาจมีท่าทีผ่อนคลาย (dovish) ขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและลดความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทย หากพิจารณาจากรายงานผลการประชุมจะพบว่า กนง. มีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านต่ำจากต่างประเทศ โดยอีไอซีมองว่า ความเสี่ยงสำคัญมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงพร้อมกับภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวมากขึ้นซึ่งมีจุดเริ่มต้นในช่วงปลายปี 2018 หลัง Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของและ ECB ยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) จึงทำให้เกิดภาวะ risk-off sentiment นักลงทุนจึงโยกย้ายสินทรัพย์เสี่ยงสู่สินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตามภาวะการเงินโลกเริ่มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้นหลังจาก Fed ประกาศว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลง (patient approach) พร้อมส่งสัญญาณยุติการลดขนาดงบดุล นอกจากนี้ในการประชุม ECB รอบล่าสุดก็ส่งสัญญาณที่ dovish ขึ้น พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการ TLTRO เพิ่มเติม ส่วน BOJ ประกาศยืนยันว่าจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีต่อไป จึงทำให้ภาวะการเงินโลกมีทิศทางผ่อนคลายขึ้น (รูปที่ 2) ด้วยเหตุนี้ ผลการประชุม Fed ในวันพรุ่งนี้จึงมีความสำคัญเพราะท่าทีที่ dovish มากขึ้นจะช่วยสนับสนุนภาวะการเงินและเศรษฐกิจโลกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง



กำลังโหลดความคิดเห็น