xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเผยยอดสินเชื่อ-เติมเงินช่วยเหลือกว่า7แสนล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธ.ก.ส.เผยการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งสนับสนุน-สร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร-ผู้ประกอบการ SME เกษตร (SMAEs)เผยมียอดอำนวยสินเชื่อและเติมเงินช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 700,000 ล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส.ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร โดยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตร รวม 65,931 ล้านบาท ได้แก่โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 149,949 ราย จำนวนเงิน 2,025 ล้านบาท การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 4,092,247 ราย จำนวนเงิน 56,344 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 868,618 รายจำนวนเงิน 7,562 ล้านบาท

อีกทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนรวม 48 โครงการ เป็นเงิน 247,840 ล้านบาท มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปีให้แก่เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 2.91 ล้านราย มูลหนี้ 889,816 ล้านบาท มาตรการเกษตรประชารัฐลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจแล้ว จำนวน 629,774 ราย วงเงิน 14,300 ล้านบาท ธ.ก.ส. ได้พัฒนาผู้ประกอบการ SMEเกษตรจำนวน 9,600 รายสนับสนุนสินเชื่อ SMAEs ไปแล้ว จำนวน 336,034 ราย วงเงิน 135,696 ล้านบาทและได้ช่วยเหลือด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 300,000 ราย

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนนโยบายสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยพัฒนา ธ.ก.ส. A-Mobile ซึ่งมีเกษตรกรดาวน์โหลดแล้วกว่า 600,000 ราย ปริมาณธุรกรรมมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 1,000,000 รายการต่อเดือน มีร้านค้า QR Code รองรับกว่า17,000 ร้านค้า อีกทั้ง ธ.ก.ส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำบัตร Smart Card สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กว่า 1,000,000 ใบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment

ด้านการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้แก่1) ด้านมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ได้แก่ มาตรการพัฒนาตนเองโดยการให้ความรู้ทางด้านการเงิน/การผลิต/การตลาดจำนวน 2.76 ล้านราย มาตรการลดภาระหนี้สินนอกระบบ 217,852 ราย เป็นเงิน 13,563.11 ล้านบาท กรณีรายที่มีหนี้ที่เป็นภาระหนัก ธ.ก.ส. ได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 661,022 ราย มูลหนี้ 129,324 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้สามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปีพ้นเส้นความยากจนจำนวนกว่า 800,000 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 51 และมีรายได้เพิ่มเกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 29,911 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้เข้าร่วมโครงการ

2) ด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน ธ.ก.ส.อำนวยสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรายย่อยไปแล้วกว่า 624,000 ล้านบาท 3) ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตผ่านโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.96 ล้านไร่ และได้ขยายผลไปยังพืชอื่นๆ ได้แก่ ข้าวโพด 82,087 ราย พื้นที่ 717,541 ไร่ โคนม 4 ชุมชน จำนวน 156 ตัว และลำไย 1,052 ราย และด้านการสร้างหลักประกันชีวิตผ่านโครงการกองทุนทวีสุข 1.55 ล้านรายและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิต 2.3 ล้านกรมธรรม์ และ4) ด้านพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 7,927 ชุมชน ยกระดับเป็นชุมชนอุดมสุข 800 ชุมชน สนันสนุนศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง436 ศูนย์ และร่วมกับเครือข่ายคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามและการบริหารจัดการต่อยอดสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว 35 ชุมชน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มสะสม 30,000 ราย ชุมชนมีรายได้รวมกว่า 14 ล้านบาท อีกทั้งสนับสนุนการออมเงินให้กับเยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร 2,217 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนร่วมโครงการ 782,916 ราย เงินฝากรวม 1,014 ล้านบาท

สำหรับการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GO Green) โดย ธ.ก.ส.มุ่งตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ 318 ชุมชน การจัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ โดยมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,831 ชุมชน จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศ 11.8ล้านต้น และการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการสร้างฝายมีชีวิต เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพด้านการเกษตร จำนวน 6,137 ฝาย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ร่วมกับสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเมินความสำเร็จด้านผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. โดยนำข้อมูลโครงการนโยบายรัฐที่สำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2559 - 2561 จำนวน 11 โครงการ และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่างกระจายไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งผลประเมินโดยสรุปในภาพรวมลูกค้า ธ.ก.ส. ทั้งสหกรณ์เกษตร ผู้ประกอบการ SMEเกษตร และเกษตรกรรายย่อย ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย การลดต้นทุนการผลิต การสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด การเพิ่มแหล่งวัตถุดิบ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEเกษตรปรากฎผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตลดลงมีอำนาจต่อรองมากขึ้นมีทักษะในการประกอบอาชีพและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินโครงการนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ยังส่งผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมต่อลูกค้า ธ.ก.ส. ในเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น โอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าถึงความรู้ทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น