xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับ ศก.ไทยปีนี้ อาจโตชะลอลงจากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับ ศก.ไทยปีนี้ อาจโตชะลอลงจากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมคาด กนง. ทบทวนคาดการณ์ใน มี.ค.นี้ พร้อมแนะผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท. ได้ประเมินไว้บ้างแล้ว โดยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. 62 จะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ กนง. จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

ส่วนกรณีที่ต่างประเทศเริ่มมีการทบทวนทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้น คงไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ กนง. นำมาพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายการเงิน แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลทั้งหมดที่มี อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดีย และปากีสถาน อาจมีผลกระทบมาถึงประเทศไทยบ้าง จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงแนะนำผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงด้วย

“เศรษฐกิจไทยนั้น เชื่อว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อาจชะลอลงจากปีก่อนบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นปัจจัยที่เราไม่ได้คาดคิด เช่น กรณีของอินเดีย-ปากีสถาน ด้วยความที่เศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกัน ก็อาจจะส่งผลกระทบมาสู่เราได้ เพราะฉะนั้น การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าชะล่าใจว่าในประเทศไม่มีอะไร แต่มันมีสถานการณ์ภายนอกที่อาจเข้ามากระทบได้” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

พร้อมยืนยันว่าในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะยังคงยึดหลัก Data Dependent เป็นสำคัญ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวมีความผันผวนอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างใกล้ชิด

นายวิรไท ยอมรับว่ามีความกังวลต่อในกรณีที่สินเชื่อบางประเภทมีอัตราการเติบโตมากเกินไป และเป็นการปล่อยสินเชื่อด้วยการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร มีการสร้างแรงจูงใจที่ผิดปกติ ซึ่งจะมีส่วนในการทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้ เช่น การสร้างดีมานด์เทียมในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยสินเชื่อบ้านในวงเงินที่สูงเกินศักยภาพของผู้กู้ ตลอดจนมีการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า ราคาบ้านในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว เป็นเพียงดีมานด์เทียม ขณะที่มีซัปพลายในตลาดมาก ซึ่งไม่มีโอกาสที่ราคาบ้านจะปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างที่คาดหวัง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ ธปท. จำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระยะยาว

“ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน สร้างความเข้าใจให้กับสถาบันการเงิน และช่วยกันเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาว” ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น