xs
xsm
sm
md
lg

สศค.เผย ศก.ไทย ม.ค.62 ได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สศค.เผย ศก.ไทย ม.ค. 62 ได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก เผยยังคงเป้าส่งออกทั้งปี แม้ว่า ม.ค. จะหดตัวกว่าคาด พร้อมมองว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ จะมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2562 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2562 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สามารถกลับมาขยายตัว

ขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่า การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัว 10.3% สูงสุดในรอบ 7 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวได้ดีที่ระดับ 17.4% คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 3.1% และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัว 4% ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 หดตัวที่ -3.1% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 67.7 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ดีขึ้น การเลือกตั้งในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 17.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 โดยขยายตัวได้ดีตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 21.0% ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 5.5% ต่อปี

นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ก็ขยายตัวในระดับสูงที่ 15.2% จากการขยายตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ 17.0% ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2562 หดตัวที่ -0.3% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก -4.7% ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ -5.7% อย่างไรก็ตาม การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย และ CLMV ยังคงขยายตัว ทั้งนี้ สินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 23.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.0% ทั้งนี้ ถ้าหักสินค้าที่มีความผันผวนสูงมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวที่ 3.7% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2562 ขาดดุลจำนวน 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัว 5.2% โดยหมวดพืชผลสำคัญ ขยายตัว 6.4% หมวดประมง ขยายตัว 0.4% และหมวดปศุสัตว์ 1.6% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความเห็นว่า สถานการณ์การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ ที่ขยายตัวในระดับสูง 10.3% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ขยายตัว 24.9% และไต้หวัน ที่ขยายตัว 31% ส่งผลทำให้เดือนมกราคม 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 195,847 ล้านบาท ขยายตัว 2.4% จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 0.3% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% สำหรับอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในภาคการเกษตร เนื่องจากการปลูกยางลดลง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรกลับมีการจ้างงานดีขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 41.8% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 209.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สศค. กล่าวถึงการส่งออกในเดือน ม.ค. 62 ที่ลดลง 5.7% ว่าเป็นการติดลบมากกว่าที่ สศค. คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า การส่งออกโดยรวมทั้งปี 62 จะขยายตัวได้ 4.5% ตามที่ สศค. ได้ประมาณการไว้ ทั้งนี้ ยังมีเวลาอีก 11 เดือน ซึ่งจะต้องประเมินและติดตามสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือต่อไป และเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์คงจะได้เร่งผลักดันมาตรการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

นายพิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การส่งออกที่ยังชะลอตัวลง น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนภาวะเงินบาทที่แข็งค่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง มองว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ จะมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น