xs
xsm
sm
md
lg

ต้มตุ๋นลงทุนขุด “บิทคอยน์” / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระแสการเก็งกำไร “บิทคอยน์” เงียบหายไปพักใหญ่ จนเข้าใจกันว่า เงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกสกุลนี้ คงไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่ออีก

แต่ต้นสัปดาห์นี้กลับมีข่าวใหญ่ การต้มตุ๋นลงทุนในบิทคอยน์ มีผู้เสียหายกว่าร้อยคน มูลค่าความเสียหายเกือบครึ่งร้อยล้านบาท

คดีหลอกลวงลงทุนใน “บิทคอยน์” ล่าสุด เป็นการชักชวนให้ลงทุนในบริษัทต่างชาติ ซึ่งอ้างว่าดำเนินธุรกิจขุดหา "บิทคอยน์" โดยโฆษณาผ่านเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย

การลงทุนช่วงแรก บริษัทจ่ายผลตอบแทนตามสัญญา เช่นเดียวกับบริษัทแชร์ลูกโซ่ทั่วไป แต่หลังจากเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปบริษัทเริ่มผิดสัญญา ไม่จ่ายผลตอบแทนตามกำหนด

เมื่อผู้ลงทุนรู้ว่าถูกหลอก แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มมิจฉาชีพ แต่เงินได้สูญไปแล้ว

การขุดหา "บิทคอยน์" ปัจจุบันไม่ค่อยจะคุ้มกับการลงทุนแล้ว เพราะปริมาณบิทคอยน์เหลือให้ขุดน้อยมาก ราคาก็ลดต่ำกว่า 4,000 ดอลลาร์ต่อเหรียญคอยน์ ขณะที่ต้นทุนการขุดหาสูง ทั้งค่าเครื่องขุดและค่าไฟฟ้า

บิทคอยน์เคยเฟื่องฟูเมื่อช่วงปลายปี 2560 โดยนักลงทุนจำนวนหนึ่งแห่เข้าไปเก็งกำไร เพราะคิดว่าราคาพุ่งทะยานขึ้นไป ระดับ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 เหรียญ

แต่ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 19,000 ดอลลาร์เท่านั้น ก่อนจะทรุดลง จนล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 3,900 ดอลลาร์ต่อ 1 เหรียญคอยน์

นักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรบิทคอยน์ กระเป๋าฉีกตามๆ กัน และทำให้กระแสบิทคอยน์ดับลง นักลงทุนถอยห่างจากเงินดิจิทัล

เสียงเตือนความเสี่ยงการเก็งกำไรเงินดิจิทัลดังก้องเป็นระยะ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ออกประกาศเตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง

ก.ล.ต.ได้จัดตั้ง “เสี่ยงสูง.com” ขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัล โดยนักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทที่ชักชวนให้ลงทุนเงินดิจิทัลนั้น ได้รับการอนุมัติจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีใครตกเป็นเหยื่อการต้มตุ๋นอีก โดยเฉพาะการชักชวนให้ลงทุนผ่านบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเงินดิจิทัลเถื่อน ซึ่งไม่ผ่านการให้การอนุมัติจาก ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเงินดิจิทัล

แต่มีคนตกเป็นเหยื่ออีกจนได้ จำนวนเหยื่อไม่น้อยเสียด้วย

ช่วงสองสัปดาห์ มีการแจ้งความคดีเกี่ยวกับการลงทุนหลายคดี นอกจาก "บิทคอยน์" แล้ว ยังมีคดีการหลอกลงทุนซื้อหุ้นบริษัทมหาชน โดยผู้เสียหายอ้างว่า ลงทุนไปหลายปี แต่บริษัทไม่เคยจ่ายเงินปันผล

และคดีชักชวนให้ซื้อหุ้นในต่างประเทศ มีลูกพนักงาน ก.ล.ต.เข้าไปพัวพัน

ความเสียหายในแต่ละคดี จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าผู้ถูกชักชวนตรวจสอบข้อมูลบุคคลหรือบริษัทที่ชักชวนให้ลงทุน หรือตรวจสอบธุรกรรมที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. มีศูนย์ที่จะช่วยให้ความกระจ่างแก่นักลงทุนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในทุกด้าน

เพียงแต่ช่วงที่ถูกชักชวนให้ลงทุน ผู้เสียหายไม่รู้สึกสะกิดใจว่า กำลังถูกหลอก หรือถูกครอบงำด้วยข้อเสนอผลตอบแทนที่สูง จนมองข้ามความเสี่ยง จะรู้อีกทีว่าตกเป็นเหยื่อ มักจะสายเสียแล้ว

การลงทุนอะไรก็ตาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ตรวจสอบอย่างรอบด้าน ต้องตั้งคำถามตัวเองว่า ผลตอบแทนสูงๆ ที่นำมาโฆษณาชวนเชื่อนั้น ทำได้จริงหรือไม่

ถ้าทำได้จริง ทำไมคนที่มาชักชวนให้ร่วมลงทุน จึงไม่ชักชวนเจ้าสัวระดับหมื่นล้านแสนล้านลงทุน

ทำไม ไม่เคยมีข่าวว่า เจ้าสัวระดับหมื่นล้านแสนล้าน ถูกหลอกให้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่

การลงทุนในตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน มีการชักชวนชี้นำให้เก็งกำไรหุ้นรายตัว อ้างว่าราคาจะพุ่งทะยาน สร้างความร่ำรวยในพริบตา แมลงเม่าตกเป็นเหยื่อไม่น้อย

บทเรียนการหลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำซาก แต่ทำไมยังมีเหยื่อรายใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่เลิก โดยเฉพาะการต้มตุ๋นลงบิทคอยน์ ซึ่งน่าจะปิดตำนานโกงไปแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น