xs
xsm
sm
md
lg

กนง.มอง ศก.ไทยโตต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายงาน กนง. มอง ศก.ไทยโตต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ แต่ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 6 ก.พ.62 ระบุว่า การตัดสินนโยบายการเงินที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามปริมาณการค้าโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่การส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้

ขณะเดียวกัน อุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการร่วมลงทุนของรัฐบาล และเอกชน ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

กนง. มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ แต่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ และในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะ (1) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการส่งออกสินค้าของไทย (2) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลง และ (3) ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงาน และอาหารสด จึงเห็นควรให้ติดตามปัจจัยที่อาจกระทบราคาน้ำมันดิบจากทั้งปัจจัยด้านตลาดการเงิน และปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งติดตามปัจจัยที่อาจทำให้ราคาอาหารสดปรับสูงขึ้น อาทิ อุปสงค์ต่างประเทศที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการเกิดโรคระบาดสัตว์ในต่างประเทศ และการเพิกถอนประเทศไทยจากกลุ่มการประมงผิดกฎหมาย (IUU) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีต่อเนื่อง

3) ระบบการเงินยังมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตได้ อาทิ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสัดส่วนสูงในตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินเชื่อ ธพ. และความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อุปสงค์จากต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์ไทยการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อุปทานคงค้างในบางพื้นที่ ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รายงาน กนง. ระบุว่า มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา จะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

รวมทั้งเห็นควรให้ศึกษามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เพี่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป และผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ควบคู่กับการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้

กนง. ยังอภิปรายเกี่ยวกับการส่งผ่านนโยบายการเงินภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินบางแห่ง ทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ สภาพคล่องของ ธพ.ในปัจจุบันยังมีเพียงพอในการรองรับการขยายสินเชื่อในระยะข้างหน้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่ยังทรงตัว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ ยังอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) โดย กนง. จะประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น