xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิวเชือดผู้บริหาร บลจ. / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกล่าวโทษอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC พร้อมพวกรวม 7 คน ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไปแล้ว

แต่พฤติกรรมโกงในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ยังมีอีกมากมาย และกำลังถูกขุดคุ้ย เปิดโปงอีกระลอกใหญ่ โดยผู้ถือหุ้นได้แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกหลายดคี ซึ่งรวมถึงคดีที่อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) แห่งหนึ่ง สมคบกับอดีตผู้บริหาร KC โกงด้วย

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร KC พร้อมพวก 7 คนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งก่อความผิดระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยการทุจริต ยักยอกเงินที่ได้จากการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน (ตั๋ว B/E) จำนวนรวม 25 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 425 ล้านบาท

ตั๋ว B/E วงเงิน 425 ล้านบาท บันทึกบัญชีบริษัทฯ แต่เงินจากการจำหน่ายถูกผ่องถ่ายไปในบุคคลอื่น ซึ่ง ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย

เส้นทางการเงินในการผ่องถ่ายเงินจากการออกตั๋ว B/E ไม่ได้โยกไปในกลุ่มอดีตผู้บริหารบริษัทและพวกรวม 7 คนเท่านั้น แต่ยังถูกโอนไปยังคนใกล้ชิดอดีตผู้บริหาร บลจ.แห่งหนึ่งด้วย

บลจ.แห่งนี้มีชื่อเสียงในการลงทุนตั๋ว B/E โดยจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้จำนวนมาก นำเงินไปลงทุนในตั๋ว B/E ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง และมักเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะการเงินง่อนแง่น

ผลที่ตามมาคือ ตั๋ว B/E ที่ลงทุนไว้ส่วนใหญ่มีปัญหา เพราะเมื่อครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถไถ่ถอนได้ เกิดปัญหาหนี้เสีย ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องได้รับผลกระทบ

ไม่เฉพาะตั๋ว B/E ของ KC เท่านั้น ตั๋ว B/E อีกหลายบริษัทที่ บลจ.แห่งนี้เข้าไปลงทุนมีปัญหาตั๋วเด้งอย่างต่อเนื่อง จนมีคำถามว่า

ทำไมผู้บริหาร บลจ. แห่งนี้จึงรุ่มร่าม หละหลวมในการบริหาร ทำไมไม่ตรวจสอบฐานะของผู้ออกตั๋ว หรือว่ามีผลประโยชน์ใดแอบแฝง

อีกไม่นานสังคมจะมีคำตอบถึงพฤติกรรมอดีตผู้บริหาร บลจ. รายนี้ เพราะได้มีการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดร่วมกันยักยอกทรัพย์ของ KC ไว้แล้ว

อดีตผู้บริหาร บลจ. รายนี้ ตั้งเงื่อนไขกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่จะออกตั๋ว B/E โดยขอ "เงินทอน" 10 % จากมูลค่าตั๋วที่ออก แลกกับการนำเงินกองทุนตราสารหนี้ภายใต้การบริหารจัดการของตัวเอง เข้ามาซื้อตั๋ว B/E

และการตั้งเงื่อนไข "เงินทอน" 10% เป็นข้อต่อรองเป็นการทั่วไปกับบริษัทจดทะเบียนรายอื่นๆ ที่ออกตั๋ว โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตั๋ว ความเสี่ยงในการลงทุน และความเสียหายของผู้ถือหุ้น แต่มุ่งโกยเงินเข้ากระเป๋าเพียงประการเดียว

แต่ความเสียหายที่สร้างไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ความสูญเสียที่ทิ้งไว้ให้ บลจ. ผู้บริหาร บลจ. รายนี้จะต้องชดใช้

สำหรับโครงสร้างการบริหารงาน KC ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว โดยกลุ่มผู้บริหารชุดใหม่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาฐานะการดำเนินงาน เก็บกวาดขยะที่อดีตผู้บริหารชุดเก่าทิ้งไว้ ตรวจค้นการทุจริตในอดีต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้แทบล้ม มีปัญหาด้านฐานะการเงิน ต้องเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ หุ้นถูกสั่งพักการซื้อขายยาวนาน นักลงทุนกว่า 3 พันรายได้รับความเสียหาย

ใครทำบาปทำกรรมไว้กับผู้ถือหุ้น KC ไว้ ต้องถูกชดใช้ เพราะคดีทุจริตในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้กำลังทยอยออกมาอีกระลอกใหญ่



กำลังโหลดความคิดเห็น