แบงก์กรุงเทพตั้งงบลงทุนพัฒนาไอที 4-6 พันล้านบาท เน้นพัฒนาระบบสินเชื่อธุรกิจ มากกว่าดิจิตอลแบงกิงแพล็ตฟอร์ม พร้อมเปิดตัว “Startup Ecosystem @TU” เพื่อพัฒนาพื้นที่บ่มเพาะ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยน Startup ระหว่างประเทศ เพื่อขยายตลาด
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งงบในการพัฒนาระบบไอที ปี 2562 ประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท เป็นการพัฒนายกระดับไอทีทั้งหมด เพื่อเข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ให้บริการกับลูกค้าได้ทุกกลุ่มธุรกิจ ธนาคารไม่เน้นทำดิจิทัลแบงกิงแพลตฟอร์ม แต่จะให้ความสำคัญพัฒนาระบบบริการสินเชื่อธุรกิจมากกว่า
ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์ เปิดตัว “Startup Ecosystem @TU” เพื่อพัฒนาพื้นที่บ่มเพาะ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยน Startup ระหว่างประเทศ เพื่อขยายตลาด เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารที่ส่งเสริม Startup โดยธนาคารมีโครงการ InnoHub เป็นแหล่งบ่มเพาะ ทั้งนี้ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้ Startup สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมี Co-working Space ที่รองรับบริษัท Startup จำนวน 10 บริษัท และกำลังสร้างพื้นที่เพิ่มเติมเป็น Deep Tech ณ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าในระยะแรกจะมีนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานในบริษัท Startup ที่เข้ามาตั้งในพื้นที่บ่มเพาะของมหาวิทยาลัย จำนวน 50 คน และจะใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบในการขยายไปสู่คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างแหล่งบ่มเพาะธุรกิจ Startup
ด้านรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริม Startup ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงธุรกิจเข้ามาเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งในระดับการเรียนการสอน การฝึกงาน หรือการตั้งธุรกิจจริง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธรรมศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ โดย Startup ที่รับการบ่มเพาะ ไม่จำเป็นต้องเป็นบัณฑิตของธรรมศาสตร์ เท่านั้น แต่เป็นกลุ่มที่ใช้ไลเซนส์สิทธิบัตร นวัตกรรมที่อาจารย์ธรรมศาสตร์ คิดค้นขึ้นด้วย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเครือข่ายพันธมิตรเช่นธนาคารกรุงเทพ ที่ร่วมสนับสนุน Startup Ecosystem@TU โดยขณะนี้ได้มีโครงการใหม่ร่วมกันเรียกว่า Startup Exchange Program คือ การส่ง Startup ไทยไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายพันธมิตรในต่างประเทศ เริ่มจากสิงคโปร์ ซึ่งมีการพัฒนาเครือข่ายฐานผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้ Startup ของเราขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
“การมีฐานผู้ใช้จำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จในอนาคต จึงอยากเชิญชวนให้ Startup ไทยเข้าร่วม และใช้ประโยชน์จากโครงการ Startup Exchange Program ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารกรุงเทพ ริเริ่มขึ้นในครั้งนี้”