xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ปันผลอีก 32 สจต. หลังอวดกำไร 583 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จ่ายปันผลงวดครึ่งหลังอีก 0.32 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย 29 เม.ย.นี้ หลังปี 2561 กำไรนิวไฮ 583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% รายได้ 3,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน เผยทำเลตู้ดีและบริการหน้าตู้เพิ่มดันการทำรายการมากขึ้น ตั้งเป้าปีนี้เติบโตโดยรวม 10%

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีมติจ่ายเงินปันผล สำหรับงวดครึ่งปีหลังอีกในอัตราหุ้นละ 0.32 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายในวันที่ 29 เมษายน 2562 โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record date) ในวันที่ 18 มีนาคม 2562 ทำให้ทั้งปีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลรวม 0.62 บาท/หุ้น

สำหรับผลประกอบการปี 2561 ที่บริษัทฯ มีรายได้รวมจากธุรกิจหลัก 3,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% และกำไรสุทธิ 583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้ 3,105 ล้านบาท และกำไร 543 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4 /2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% และกำไรสุทธิ 142 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 833 ล้านบาท และกำไร 122 ล้านบาท

โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรดังกล่าวมาจากการขยายจุดติดตั้งตู้บุญเติมที่ขณะนี้มีจำนวน 130,053 ตู้ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 5,400 ตู้ ควบคู่ไปกับการการโยกย้ายทำเลที่มีศักยภาพมากขึ้น และการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การเพิ่มบริการหน้าตู้เติมเงินบุญเติมยังช่วยสนับสนุนให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยมียอดทำรายการกว่า 2.01 ล้านรายการต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการโอนเงินที่ในปีที่ผ่านมา บุญเติม เป็นตัวแทนให้ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรี ที่มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจำนวนรายการโอนเงินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 30,006 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งมีอยู่ 23,062 รายการ หรือเพิ่มขึ้น 30.1% อย่างไรก็ตาม ช่องทางการเติมเงินยังเป็นช่องทางรายได้หลักจากจำนวนผู้ใช้งานกว่า 23 ล้านเลขหมาย ซึ่งทั้งหมดสนับสนุนให้ ณ สิ้นปี 2561 บริษัทฯ มียอดเติมเงินรวมอยู่ที่ 41,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มียอดเติมเงินอยู่ที่ 36,175 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานในปี 2562 ว่า บริษัทฯ มีแผนลงทุนในปีนี้ประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยจะมีการขยายการติดตั้งตู้บุญเติม เพิ่ม 5,000 ตู้ในทำเลที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนตู้เดิมไปในทำเลที่มีศักยภาพ เพื่อบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งจะเพิ่มบริการใหม่ๆ หน้าตู้เติมเงิน เพื่อให้ครบวงจรในการใช้งานมากขึ้น อาทิ เพิ่มการขายประกันหน้าตู้ การเพิ่ม banking agent อีก 1 ธนาคาร จากล่าสุด ธนาคารออมสิน ธนาคารที่ 4 ได้แต่งตั้งให้ตู้บุญเติม เป็นหนึ่งตัวแทนในการบริการรับฝาก-โอนเงิน ซึ่งจะเพิ่มรายได้ในช่องทางการโอนเงินได้มากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกัน บริษัทจะเริ่มดำเนินการต่อยอดธุรกิจตู้เติมเงิน ด้วยการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ และบริการพิสูจน์ตัวตน (Electronic Know Your Customer-e-KYC) สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ และลงทะเบียนซิซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยขยายฐานผู้ใช้บริการ และเพิ่มยอดเฉลี่ยการใช้บริการผ่านตู้ให้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 2 ของปีนี้

นอกจากธุรกิจหลักที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแล้ว บริษัทฯ มีแผนขยายอีก 2 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และสถานีบริการชาร์จ/เปลี่ยนแบตเตอรีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยธุรกิจปล่อยสินเชื่อคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยทางบริษัทฯ จะดำเนินการในเครือข่ายตัวแทนบุญเติม ที่ปัจจุบันมีเกือบ 100,000 รายก่อน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องใบอนุญาตกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนสถานีบริการชาร์จ/เปลี่ยนแบตเตอรีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จะเริ่มเปิดให้บริการได้ช่วงครึ่งปีหลัง โดยเบื้องต้นประมาณ 10 สถานีในเขตกรุงเทพมหานคร ก่อนขยายพื้นที่ตามแนวทางของกลุ่มพันธมิตร ต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมองหาบริการเพิ่มเติม โดยศึกษาจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์หารใช้งานให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จากแผนการดำเนินงานทั้งหมดที่กล่าวมา บริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตของยอดเติมเงินประมาณ 10% จากบริการใหม่ๆ หน้าตู้ และธุรกิจต่อยอดที่เพิ่มเข้ามาเช่นเดียวกับรายได้ที่ตั้งเป้าการเติบโตที่ 10% โดยจะมาจากธุรกิจตู้เติมเงินในทุกช่องทาง รวมถึงธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น