xs
xsm
sm
md
lg

เติมเงินหุ้น PPPM ไหวหรือ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ราคาหุ้นบริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM รูดลงแรงทันที หลังจากคณะกรรมการบริษัท ประกาศมติเพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายถือหุ้นเดิม ซึ่งเป็นการจุดชนวนให้เกิดการเทขายหุ้นทิ้ง

PPPM แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ก่อนตลาดหุ้นเปิดการซื้อขายวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการมีมติเพิ่มทุนจำนวน 281.52 ล้านหุ้น นำหุ้นใหม่ จำนวน 231.52 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2 บาท และนำหุ้นใหม่อีกจำนวน 50 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด ในราคาไม่ต่ำกว่า 90% ของราคาตลาด

ราคาหุ้น PPPM ในรอบ 12 เดือน เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 7.75 บาท/หุ้น ต่ำสุดที่ 2.50 บาท และปิดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ หลังประกาศเพิ่มทุนที่ระดับราคา 2.62 บาท ลดลง 0.38 บาท หรือลดลง 11.88%

ถ้าเทียบกับราคาหุ้นบนกระดานกับราคาหุ้นเพิ่มทุน ที่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ถือว่าจูงใจให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้น เพราะมีส่วนต่างราคาประมาณ 40% แต่ผู้ถือหุ้นเดิมกลับแห่ขายทิ้ง เพราะไม่อยากเติมเงินเข้าไปอีก เนื่องจากผลประกอบการบริษัทย่ำแย่ และบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินปันผล แม้บางปีบริษัทมีกำไรก็ตาม

PPPM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2537 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคา 50 บาท จากพาร์ 10 บาท ซึ่งปัจจุบันแตกพาร์เหลือ 1 บาท โดยดำเนินธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ และสัตว์เลี้ยง มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 1,943 ราย ถือหุ้นสัดส่วนรวมกัน 79.32% ของทุนจดทะเบียน มีนายพงศ์รักษ์ จินดาสมบัติเจริญ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 11.60% ของทุนจดทะเบียน

ผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลังไม่ดีนัก โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 246.57 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 กำไรสุทธิ 236.98 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 77.87 ล้านบาท

หุ้น PPPM ไม่มีข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่จะคำนวณราคาที่เหมาะสมได้ เนื่องจากไม่มีค่า พี/อี เรโช ไม่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน แม้ปีที่มีกำไรก็ไม่จ่ายปันผล นักลงทุนที่ถือหุ้นไว้ ต้องรอผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นเพียงประการเดียว

แต่หุ้นก็มีผันผวน เพราะไม่มีผลประกอบการที่ดีสนับสนุนราคา

การประกาศเพิ่มทุนครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ต้องเป็นเจ้าภาพใหญ่ ใส่เงินเข้าบริษัท เพราะเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่สุด และถ้าใส่เงินลงไป คงคาดหวังได้แต่ส่วนต่างราคาหุ้นเท่านั้น จะหวังเงินปันผลไม่ได้มากนัก เพราะบริษัทไม่จ่ายเงินปันผลมายาวนาน

เงินที่จะควักจ่ายซื้อหุ้นเพิ่มทุน ไม่มีหลักประกันว่า ผู้บริหารจะนำไปสร้างผลตอบแทนคืนกลับให้ผู้ถือหุ้นที่ถมเงินเข้าไป หรือไม่ ราคาหุ้นที่ทรุดลงแรง อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่อยากเสี่ยงที่จะเติมเงินใส่ PPPM เพราะกลัวความเสี่ยง และไม่แน่ใจว่า ราคาหุ้นจะทรุดลง หลังจากเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่

เพราะแม้ราคาปัจจุบันจะสูงกว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายกว่า 40% แต่ถ้าราคาหุ้นทรุดลงไม่หยุด การใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนราคา 2 บาท อาจนำไปสู่ความเสียหาย ขาดทุนจากหุ้นตัวลูกอีกก็ได้

แผนการระดมทุนของ PPPM อาจไม่บรรลุตามเป้าหมายที่คณะกรรมการบริษัทตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลพวงจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ และการที่บริษัทไม่ยอมจ่ายเงินปันผล ทั้งที่มีกำไร จนผู้ถือหุ้นรู้สึกหวาดหวั่นที่จะถูกสูบเงิน

ลงทุนหุ้น PPPM มีแต่ถมเงินเข้าไป แต่บริษัทไม่ยอมจ่ายคืนกลับมา สูบเข้าไปข้างเดียว ผู้ถือหุ้นรายย่อยควักจ่ายไม่ไหวเหมือนกัน

การที่บริษัทจดทะเบียนประกาศเพิ่มทุน สูบเงินจากผู้ถือหุ้นเดิม โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นมีแต่รายย่อย

นักลงทุนจะต้องระวังตัว อย่าใส่เงินลงไปง่ายๆ เพราะอาจเกิดความเสียหายซับซ้อน

ขาดทุนหุ้นตัวแม่แล้ว ยังต้องเจ๊งกับการซื้อหุ้นลูก หรือซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก ตัวอย่างมีให้เห็นนับไม่ถ้วน บางบริษัทเพิ่มทุนปีละนับสิบครั้ง ผู้ถือหุ้นรายย่อยเติมเงินลงไป ฝ่ายบริหารบริษัทนำไปผ่องถ่ายในรูปซื้อทรัพย์สินหรือขยายการลงทุน แต่ผลดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง

สุดท้ายบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องเข้ากลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน หุ้นถูกพักการซื้อขายยาว มูลค่าหุ้นถูกตีค่าเป็นศูนย์ นักลงทุนสูญเงินลงทุนทั้งก้อน

บริษัทจดทะเบียนใดเพิ่มทุน ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่า ควรใช้สิทธิจองซื้อหรือไม่ อย่าหลับหูหลับตาเติมเงินลูกเดียว

การเพิ่มทุนของ PPPM อยู่ในข่ายที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องคิดให้หนักด้วยเหมือนกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น