xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความสามารถแข่งขัน SMEs ไตรมาส 4/61 เพิ่มขึ้น 0.4 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 4/61 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.0 หรือเพิ่มขึ้น 0.4 จุด พร้อมคาดปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 49.2 จุดในไตรมาสที่ 1/62 ระบุภาพรวมกลุ่มลูกค้า ธพว. มีดัชนีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 4/2561 ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 43.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2561 ส่วนไตรมาส 1/2562 คาดจะเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 43.9 ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 50.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะปรับเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 50.6 ด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวลดลง 0.3 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 53.1 โดยภาพรวมแล้ว ทั้ง 3 ดัชนีพบว่ากลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีปรับขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 4/2561 พบว่าอยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/2561 เป็นต้นมา และคาดว่า ในไตรมาสที่ 1/2562 จะปรับเพิ่มขึ้นอีกไปอยู่ที่ระดับ 49.2 และยังพบว่า กลุ่มลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเมื่อเที่ยบกับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.

ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่อ เช่น การปล่อยสินเชื่อ และขั้นตอนเอกสาร ด้านหนี้สิน เช่น โครงสร้างหนี้ หนี้สินครัวเรือน และหนี้นอกระบบ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี และโครงสร้างภาษี และด้านการศึกษา เช่น พัฒนาการเรียนรู้ และจัดอบรมให้ผู้ประกอบการ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. หรือ SME Development Bank กล่าวว่าจากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของ ธพว. จะมีค่าเฉลี่ยทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจฯ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจฯ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดังนั้น จึงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า แนวทางการสนับสนุนจะให้เฉพาะเงินทุนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย ดังนั้น SME D Bank จึงยึดยุทธศาสตร์มอบ “3 เติม” ให้แก่เอสเอ็มอีไทย ได้แก่ 1.เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมสัมมนา จับคู่ธุรกิจ และพี่เลี้ยงมืออาชีพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

2.เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ยเพียง 0.08% ต่อเดือน หรือ 1% ต่อปี คงที่นาน 7 ปี (ตลอดอายุสัญญา) กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียง 410 บาทต่อวัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ เพื่อธุรกิจเกษตร, แปรรูปอาหาร, ท่องเที่ยวชุมชน, ค้าปลีก-ค้าส่ง และอาชีพอิสระ บุคคลธรรมดาดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน ถ้าเป็นนิติบุคคลเหลือเพียง 0.25% ต่อเดือน และ 3.เติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดภาระให้ครอบครัว ซึ่งจากการมอบ 3 เติมดังกล่าว จะช่วยยกระดับเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอี สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น