xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการป้องปราม “ปั่นหุ้น” / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะดำเนินมาตรการลงโทษ ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้น และการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) อย่างเข้มข้น แต่การกระทำความผิดไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

ปี 2561 ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการทางแพ่ง โดยสั่งปรับผู้กระทำความผิด และได้รับชำระค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 333.92 ล้านบาท จากความผิด 9 คดี มีผู้ร่วมกระทำผิดทั้งสิ้น 46 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งได้รับชำระค่าปรับ 53.88 ล้านบาท จากความผิด 9 คดี ผู้ร่วมกระทำผิดรวม 25 ราย

ถ้าผู้กระทำความผิดทุกคดียินยอมรับบทลงโทษทางแพ่ง จำนวนค่าปรับจะพุ่งขึ้นมากกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ผู้กระทำความผิดหลายกลุ่มดื้อแพ่ง ไม่ยอมจ่ายค่าปรับก.ล.ต.จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้องในทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุด

และ ก.ล.ต.ได้ประสานความร่วมมือกับอัยการ และกรมบังคับคดี เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน การบังคับคดีทางแพ่ง สำหรับผู้กระทำความผิดในการปั่นหุ้นและอินไซเดอร์เทรดดิ้งแล้ว

ความผิดในการปั่นหุ้น ถือเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ ก.ล.ต มักดำเนินมาตรการลงโทษในทางแพ่ง โดยการเปรียบเทียบปรับ ถ้ายินยอมจ่ายคดีก็จบ

แต่แก๊งปั่นหุ้นหลายกลุ่มหัวหมอ ไม่ยินยอมชำระค่าปรับ ซึ่ง ก.ล.ต. ต้องส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน

คดีปั่นหุ้นในรอบปี 2561 ก.ล.ต. ประเดิมด้วยการกล่าวโทษ แก๊งปั่นหุ้นกลุ่มใหญ่ จำนวน 25 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น รวม 6 ตัว ประกอบด้วย NEWS, MILL, POLAR, NBC, NINE และ NINE-W1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในเครือข่าย บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG โดยเรียกชำระค่าปรับ จำนวน 890 ล้านบาท

แต่แก๊งปั่นหุ้นกลุ่มนี้ไม่ยอมจ่าย และต้องส่งเรื่องฟ้องให้ชำระค่าปรับ พร้อมให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน แต่ผ่านไป 10 เดือนแล้ว คดียังไม่คืบหน้า และไม่มีข่าวว่า ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินไปถึงไหน สาวถึงต้นตอของขบวนการปั่นหุ้น และแหล่งเงินที่ใช้ในการปั่นหุ้นหรือไม่

คดีต่อมา เกิดขึ้นวันที่ 6 มิถุนายน 2561 โดย ก.ล.ต. ประกาศกล่าวโทษผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ABC ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ DIGI ร่วมกับพวกรวม 7 คน ปั่นหุ้น ABC ซึ่ง ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 120 ล้านบาท ทั้งหมดยอมจ่าย ปิดคดีไปเรียบร้อย

วันที่ 20 กรกฎาคม กล่าวโทษผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) MILL พร้อมพวกรวม 24 คน ปั่นหุ้น MILL สั่งปรับเป็นเงินรวม 172.14 ล้านบาท ทั้งหมดยินยอมจ่าย ปิดคดีไปอีกราย

วันที่ 30 สิงหาคม กล่าวโทษนายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ ปั่นหุ้นบริษัท ปิโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO และสั่งปรับ แต่นายสุรินทร์ ไม่ยอมจ่าย จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง เรียกชำระค่าปรับรวม 24.64 ล้านบาท และให้ ปปง. สอบเส้นทางการเงินต่อ

และส่งท้ายปีด้วยคดีปั่นหุ้น บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA โดยมีนายอมร มีมะโน ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับพวกรวม 40 คน ปั่นหุ้น AJD ซึ่ง ก.ล.ต. สั่งปรับเป็นเงิน 1,727.38 ล้านบาท และนายอมร พร้อมพวกน่าจะยังไม่ยินยอมชำระค่าปรับ

แก๊งปั่นหุ้น แม้บางส่วนอาจถูกดำเนินคดี แต่บางส่วนหลุดรอดลอยนวล ไม่ต้องชดใช้กรรมที่ก่อแต่อย่างใด ขณะที่นักลงทุนต้องรับเคราะห์ หมดเนื้อหมดตัว และบางกรณีนำไปสู่ความล่มสลายของครอบครัว

การลงโทษทางแพ่ง เพียงสั่งปรับ จึงไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาที่ได้ผลนัก เพราะไม่สามารถทำให้แก๊งปั่นหุ้นเกิดความเกรงกลัวกฎหมาย กลัวบทลงโทษ จนไม่กล้ากระทำความผิด ถ้ายังใช้มาตรการทางแพ่ง ลงโทษเพียงแค่ปรับ อาชญากรในตลาดหุ้นจะไม่มีวันหมด คดีปั่นหุ้นหรือพฤติกรรมผิดอื่นจะไม่ลดลง

เพราะถ้าถูกจับได้ อย่างมากก็แค่ถูกปรับ ถ้าไม่อยากจ่าย แม้ถูกฟ้อง แต่ใครจะบอกได้ว่าคดีจะสิ้นสุดอย่างไร ก.ล.ต. จะชนะคดีหรือไม่

และคดีปั่นหุ้นนับสิบๆ คดี ก็ถูกตัดตอนในขั้นตอนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ

ก.ล.ต. ต้องทบทวนแล้วว่า ทำอย่างไรจึงป้องปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้นได้ เพราะทุกพฤติกรรมความผิด ทั้งการปั่นหุ้น อินไซเดอร์ ผ่องถ่ายทรัพย์สิน หรือทุจริตในรูปแบบใด ล้วนสร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุน

แม้จับอาชญากรในตลาดหุ้นมาลงโทษ แต่นักลงทุนผู้บริสุทธิ์ต้องย่อยยับไปแล้ว จึงต้องหามาตรการป้องปราม ไม่ให้ใครริอ่านใครก่ออาชญากรรมในตลาดหุ้น


เพราะถ้าบังอาจสร้างความเสียหายให้นักลงทุน ต้องเจอโทษหนักๆ จนหลาบจำ



กำลังโหลดความคิดเห็น