xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นทีวีบวกแค่ระยะสั้น พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน! ปัญหาใหญ่กดดันอนาคตธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - มาตรการเยียวยาทีวีดิจิตอลของ กสทช. แค่ปัจจัยบวกระยะสั้นต่อหุ้นทีวี กูรูยก BEC ได้รับโยชน์ต้นทุน - ค่าใช้จ่ายลด WORK คอนเทนต์เด่นดันกำไรขยายตัว ส่วน RS ธุรกิจเสริมแกร่ง แต่ระยะยาวพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยังกดดันอนาคต รวมถึงเงินเยียวยาอาจล่าช้า!

จากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เพื่อนำไปจัดสรรในการใช้งานทางด้านกิจการโทรคมนาคม และให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G พร้อมกันนี้ กสทช.ได้เห็นชอบมาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าวได้แก่ ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล อย่างเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนค่าภาระอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry นั้นสถานการณ์ดังกล่าว ถือว่าส่งผลดีให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการทีวี ดิจิทัล อย่างมาก หลังจากก่อนหน้านี้ต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูง ขณะที่รายได้และกำไรจากเม็ดเงินโฆษณาลดลงหนัก จนส่งผลต่อผลประกอบการ เห็นได้ชัดเจนจากการปรับขึ้นของราคาหุ้นในกลุ่มนี้หลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า คาดว่ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลครั้งนี้ส่งผลบวกโดยตรงต่อผลประกอบการ ทำให้อยู่ระหว่างทบทวนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มทีวีดิจิทัล จากปัจจุบันคงน้ำหนัก "เท่ากับตลาด"โดยบริษัทที่จะได้ผลบวกชัดเจนมากที่สุดน่าจะเป็น บมจ.บีอีซี เวิล์ด (BEC) จากที่ผ่านมาถูกผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเมื่อมีมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นน่าจะช่วยผลักดันกำไรพลิกกลับมาเติบโตได้โดดเด่น

อย่างไรก็ตามการเติบโตที่โดดเด่นรอบนี้มาจากฐานที่ต่ำ ไม่ได้มาจากผลการดำเนินงานที่แท้จริงที่ผ่านมา มีรายงานว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายราย อยู่ระหว่างพิจารณาว่าอาจจะขอพักชำระค่าใบอนุญาต ขณะเดียวกันตลาดมองว่าหุ้นในกลุ่มนี้หลายบริษัทจะได้รับประโยชน์ จากการปรับลดค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ของ กสทช. โดยในส่วนของ BEC จากการลดค่า MUX และการโอนใบอนุญาต ฯ ของช่อง 3 Family ซึ่งประสบภาวะขาดทุนนั้น ในเรื่องนี้อาจส่งผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทประมาณ 168 ล้านบบาท


แต่ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กลับมองว่าหุ้นทีวีดิจิทัลที่น่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมากที่สุดคือ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์ เทนเมนท์ (WORK) เพราะเป็นผู้ประกอบการที่มีคอนเทนต์แข็งแกร่งที่สุด ดังนั้นด้วยเงินชดเชย และค่าใช้จ่ายที่ลดลงน่าจะทำให้ผลดำเนินงานเติบโตอย่างเด่นชัดมากขึ้น

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ BEC นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า BEC ยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด เหตุเพราะที่ผ่านมาบริษัทมีใบอนุญาตในมือถึง 3 ใบ ดังนั้นผลดีที่เกิดขึ้นย่อมผลต่อการเติบโตของกำไรบริษัทในระดับที่สูงกว่าผู้ประกอบการายอื่น แต่ในระยะยาวนั้น นักวิเคราะห์ยังเตือนให้เฝ้าระวัง เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีได้เปลี่ยนไปแล้ว จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านการรับชมทางช่องทาง Online และรูปแบบ Streaming มากขึ้น จนอาจทำให้ผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา

ด้าน บล.ฟินันเซียไซรัส เผยตัวเลขค่าคลื่นคงค้างของแต่ละบริษัทไว้อย่างน่าสนใจว่า BEC มี 3 ใบอนุญาต จึงมีค่าคลื่นคงเหลือที่ยังไม่จ่ายมากสุดที่ 2.3 พันล้านบาท ขณะที่ บมจ.อสมท. (MCOT) มี 2 ใบอนุญาต มีค่าคลื่นค้าง 1.2 พันล้านบาท ส่วน WORK และ บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) รวมถึง บมจ.อาร์เอส (RS) ถือรายละ 1 ใบ มีค่าคลื่นคงค้างราว 837 ล้านบาท 813 ล้านบาท และ 383 ล้านบาท ตามลำดับดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว จะพบว่า WORK มีค่าคลื่นคงค้างน้อยกว่ารายอื่น เนื่องจากไม่ใช้สิทธิพักชำระหนี้ค่าคลื่น (เช่นเดียวกับช่อง 7) ตามที่ คสช. ได้ออก ม.44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ด้านเงินที่จะมาเยียวยาธุรกิจทีวีดิจิทัลนั้น จะมาจากการประมูลคลื่น 700 MHz ของ กสทช. ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วจะเกิดในราวกลางปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีความล่าช้า เนื่องจากคาดว่าความสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นของผู้ประกอบการมือถือจะมีไม่มาก เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้เงินไปมากในการประมูลคลื่นหลายครั้ง และอาจมีการขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล รวมทั้งเรื่องวิธีการประมูลซึ่ง กสทช. ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการประมูลด้านราคาเหมือนเดิม หรือแบบ Beauty Contest

ไม่เพียงเท่านี้ หากเข้าช่วงรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทีวีดิจิทัลอาจทำให้เรื่องดังกล่าวเลื่อนออกไปอีก รวมทั้งการยกหนี้ค่าคลื่นให้ อาจมีข้อท้วงติงจากบางกลุ่ม ดังนั้นแนวทางที่พอเป็นไปได้ คือ การต่ออายุลดค่าเช่า MUX 50% และการช่วยเหลือค่า Must carry จากเดิมที่จะหมดในกลางปี 2563 และสิ้นปีนี้ตามลำดับ

โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า RS ยังคงเป็นหุ้น Top - Pick ของกลุ่ม เพราะบริษัทมีการกระจายไปยังธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอางค์ อาหารเสริม และสินค้า Lifestyle (MPC Business) และมีแนวโน้มการฟื้นตัวสูงของกำไรในปี 2562


จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าแม้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายบริษัท แต่น้ำหนักต่อหุ้นที่มีโอกาสผลดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากมาตรการของ กสทช. และสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้น บริษัทที่โดดเด่นหรือมีโอกาสในการเติบโตของผลประกอบการที่สูงขึ้นล้วนมาจากปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้

1.มีจุดแข็ง ที่ช่วยสร้างรายได้และเม็ดเงินโฆษณาที่เหนือคู่แข่งขันรายอื่นๆ เช่น WORK มีจุดแข็งที่คอนเทนต์รายการ

2.มีความสามารถในการกระจายรายได้ หรือนำธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมผ่านช่องทางทีวีดิจิทัลที่บริษัทบริหาร อาทิ RS

3.จากต้นทุนค่าใช้ที่แบกรับไว้สูง ด้วยปริมาณใบอนุญาต อย่าง BEC ที่จะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น พบว่าปัจจัยหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ นั่นคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการรับชมทางช่องทาง Online และรูปแบบ Streaming เพิ่มมากขึ้น จนอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในอนาคต หากไม่ปรับตัวหรือสร้างจุดแข็งของบริษัท เพราะมาตรการของ กสทช. อาจกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นต่อผลประกอบการและราคาหุ้นแค่เพียงระยะสั้น ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงยิ่งกว่าปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสหรือความเหมาะสมต่อการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มนี้ยังเลือนลาง!

ก่อนหน้าต้นทุนใบอนุญาตสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกราย อาทิ MCOT ขาดทุนหนักกว่า 2.5 พันล้านบาทเมื่อ2560 จากรายได้โฆษณาที่ลดลง เช่นเดียวกับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ที่ต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร รวมถึง บมจ. เนชั่นมัลติมีเดีย (NMG) ยังขาดทุนหนักต่อเนื่อง จนมีการลดจำนวนพนักงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น