“ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย” เผยตลาดอสังหาฯ ปี 62 แนวโน้มชะลอตัว ไตรมาสแรกผู้ประกอบการปั๊มยอดโอนก่อน LTV บังคับต้น เม.ย.นี้ เผยปี 2561 ตลาดโครงการคอนโดมิเนียม ทุบสถิติเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ สูงสุดในรอบ 10 ปี ทะลักเข้าสู่ระบบ 65,000 หน่วย เพิ่มขึ้น 11% ระบุทำที่เปิดหนาแน่นยึดพื้นที่ชานเมืองแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน พร้อมโฟกัสทำเลเด่นที่ฮอตเป็นพิเศษ ด้านราคาเสนอขายต่อ ตร.ม. ในซีบีดี และรอบนอกซีบีดี มีแนวโน้มเฉลี่ยไม่ขยับขึ้นมาก ขณะที่ย่านชานเมืองราคาพุ่งสูงขึ้น
นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวจากสถานการณ์ตลาดโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายภายในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ไนท์แฟรงค์ฯ คาดว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ราคาเสนอขายเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ตร.ม.) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ด้วยแรงหนุนจากการเปิดตัวของโครงการในหลายทำเลทั้งใน CBD และพื้นที่รอบ CBD นอกจากนี้ ใน Q1/2562 อัตราการโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อต้องการโอนให้เสร็จก่อนนโยบายกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะถูกบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานครในปี 2561 ทุบสถิติการเปิดตัวโครงการใหม่สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดรวมทั้งสิ้นประมาณ 65,000 หน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11% ส่งผลให้อุปทานสะสมของคอนโดมิเนียมเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2552-2561 อยู่ที่ประมาณ 500,000 หน่วย ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ไนท์แฟรงค์ฯ พบว่าไตรมาส 3/2561 มีการเปิดตัวโครงการใหม่สูงที่สุด คือ 25,000 หน่วย ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 17,000 หน่วย โดยเปิดตัวหนาแน่นในเขตชานเมืองโดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน ซึ่งอุปทานใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็น 57% ของหน่วยเปิดใหม่ทั้งหมดในไตรมาส 4/2561
เมื่อมองภาพรวมทั้งปี พบว่า เขตชานเมืองโดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแทบทุกสาย ยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนของอุปทานใหม่ใน CBD และพื้นที่รอบ CBD อยู่ที่ 18% และ 33% ตามลำดับ
ส่วนทำเลเด่นที่ผู้ประกอบการสนใจเป็นพิเศษในปี 2561 ได้แก่ ถ.สุขุมวิท ตั้งแต่ช่วงอโศก-เอกมัย ถ.พหลโยธิน ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) พระราม 9-รัชดาภิเษก ลาดพร้าว-รามคำแหง และจรัญสนิทวงศ์-เพชรเกษม
ด้านยอดขาย พบว่า ยอดขายเฉลี่ยของโครงการเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ ตลอดปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 55% โดยคอนโดขายดีส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ CBD และโซนรอบ CBD มียอดขายประมาณ 51% และ 64% ตามลำดับ ขณะที่คอนโดเปิดใหม่ย่านชานเมืองมียอดขายประมาณ 50% ซึ่งถือว่าไปได้ดีเมื่อเทียบกับอุปทานใหม่จำนวนมากที่เข้าสู่ตลาดในพื้นที่นี้ ส่วนทำเลที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้ซื้อได้แก่ สุขุมวิทตอนกลาง (อโศก-อ่อนนุช) สุขุมวิทตอนปลาย (อุดมสุข-แบริ่ง) พระราม 9-รัชดาภิเษก พหลโยธิน (จตุจักร-พหลโยธิน 52) และธนบุรี
ขณะที่ภาพรวมด้านราคาเสนอขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรของยูนิตเปิดใหม่ปี 2561 อยู่ที่ 150,641 บาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า 6% โดยราคาเสนอขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรของคอนโดใหม่ในเขต CBD และพื้นที่รอบ CBD อยู่ที่ 250,000 บาท และ 120,000 บาท ลดลง 8% และ 7% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2560 อย่างไรก็ตาม ราคาเสนอขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรของยูนิตเปิดใหม่ย่านชานเมืองมีแนวโน้มขยับขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2561 อยู่ที่ 85,000 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 3% 13% และ 20% จากปี 2560 2559 และ 2558 ตามลำดับ.