xs
xsm
sm
md
lg

ก.พ.นี้ สินเชื่อทะเบียนรถต้องขอใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธปท.ชี้แจงเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ระบุ ก.พ.นี้ ผู้จะทำธุรกิจนี้ต้องได้รับอนุญาต และต้องขอใบอนุญาตภายใน 60 วัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รายใหญ่ทำธุรกิจระดับประเทศทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป ทำธุรกิจภายใต้เกณฑ์ personal loan กลุ่มนี้ขอใบอนุญาตจาก ธปท. ส่วนธุรกิจระดับจังหวัดทุนต้องไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ขอใบอนุญาต Pico Finance ได้ที่ สศค.

ในช่วงเช้าวันนี้ (25 ม.ค.) นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดประชุมชี้แจงแนวทางหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่มีทะเบียนรถเป็นประกันให้กับผู้ประกอบธุรกิจนี้ ทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการในหลายจังหวัด หรือทำธุรกิจระดับประเทศ และระดับจังหวัด เพราะขณะนี้ ธปท. ร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันและบทเฉพาะกาลแล้ว คาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาปลายเดือนมกราคมนี้ และมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผู้ประกอบการทั้งหมดที่ทำธุรกิจนี้ หากประสงค์จะทำธุรกิจต่อไป จะต้องขออนุญาตภายใน 60 วัน นับจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่ง ธปท. จะใช้เวลาพิจารณาและส่งเรื่องไปขอใบอนุญาตที่กระทรวงการคลังภายใน 120 วัน แต่ระหว่างขอใบอนุญาตอนุโลม ให้ทำธุรกิจต่อไปตามกรอบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องไปก่อน เมื่อได้รับอนญาตต้องทำธุรกิจตามกรอบที่ ธปท. ดูแลอยู่ต่อไป

นางวจีทิพย์ กล่าวว่า สินเชื่อธุรกิจที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเป็นธุรกิจสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนระดับฐานรากที่มีความจำเป็นต้องใช้อาจจะมีรถอยู่แล้ว อยากจะได้สินเชื่อระยะสั้นเอาไปใช้ในการอุปโภค บริโภค หรืออาจจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจค้าขายชั่วคราว หรือกรณีที่มีความต้องการเร่งด่วน ดังนั้น หากมีการกำหนดกติกาคุ้มครองผู้บริโภคชัดเจน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจหลากหลายมีความยั่งยืน ปัจจุบันมีผู้ทำธุรกิจนี้ประมาณ 200 ราย และกระจายตัวอยู่อีกมาก จึงไม่อาจระบุจำนวนที่แน่นอนได้

“ที่ผ่านมา ธปท. ได้รับการร้องเรียนว่าผู้ขอสินเชื่ออาจไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง หากเทียบกับมาตรฐานการขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะแง่ข้อมูลที่จะใช้ในการทำสินเชื่อ อัตราค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย มีความหลากหลายกัน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ ธปท. และกระทรวงการคลัง เห็นว่าควรมีการกำหนดกติกากลางในการกำกับดูแล หลักการสำคัญ คือ การเข้าถึง การคุ้มครอง และการแข่งขัน ซึ่งเรื่องการแข่งขัน ธปท. จะรักษาความหลากหลายของผู้ประกอบการเอาไว้ โดยมีเกณฑ์ดูแลผู้ประกอบการ 2 ระดับ” นางวจีทิพย์ กล่าว

สำหรับรายใหญ่ที่ทำธุรกิจทั่วประเทศจะให้บริการภายใต้ใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ personal loan ส่วนผู้ที่ทำ personal loan อยู่แล้ว หากต้องการเข้าสู่ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะต้องมาแจ้ง ธปท. อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ส่วนระดับจังหวัดซึ่งเป็นรายเล็ก จะได้รับใบอนุญาต Pico Finance จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในอัตราที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น รายใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาต personal loan จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 36 ต่อปีไม่ได้ แม้ต้นทุนดำเนินการสูงแต่การมีธุรกิจกระจายทั่วประเทศจะช่วยเฉลี่ยต้นทุนลงได้

หลักสำคัญที่ต้องควบคุมดูแลสินเชื่อธุรกิจมีทะเบียนรถเป็นประกัน เนื่องจากต้องการให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับรู้ข้อมูลการขอสินเชื่อ ขณะเดียวกัน หลังจากได้รับสินเชื่อไปแล้ว จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด และลูกค้าเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ก็จะได้รับการเตือน หรือหากยึดรถแล้วไปขายทอดตลาด ก็จะมีสิทธิได้รับส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม การมีกติกากลาง จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น สุดท้ายแล้ว น่าจะช่วยเรื่องปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

ส่วนสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจนี้กังวล และหารือกับ ธปท. คือ การปรับระบบเพิ่มในส่วนของการดูแลลูกค้า ขณะที่รายเล็กมีประเด็นต้องมาทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์การทำธุรกิจตามกฎกมาย นอกจากนี้ ยังขอปรับวิธีการติดต่อกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ที่อาจจะไม่เป็นทางการอาจอยู่ในรูปโทรศัพท์ได้หรือไม่ ซึ่ง ธปท. ยืนยันว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตาม ลูกค้าจะต้องมีสิทธิได้รับข้อมูลเต็มที่ เป็นต้น สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน คือ สินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจจะรับเอาสมุดคู่มือทะเบียนรถมาเป็นประกันการชำระหนี้ หรือมีการทำสัญญาอื่นๆ เพื่อให้สามารถนำรถมาชำระหนี้ได้ โดยที่ลูกหนี้ยังคงเป็นเจ้าของ และมีรถไว้ใช้อยู่

สำหรับการกำกับดูแลธุรกิจนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ดูแลโดย สศค. ผ่านสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ภายใต้การพิจารณาให้ใบอนุญาตสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ หรือ Pico Finance โดยผู้ประกอบการระดับจังหวัด กำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ส่วนวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยต้องไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ส่วนดอกเบี้ยกำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี

ส่วนระดับประเทศ ธปท. โดยฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงินทำหน้าที่กำกับดูแลภายใต้ใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ personal loan กลุ่มนี้ คุณสมบัติผู้ที่มายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หากทุนไม่พอก็มีเวลาเพิ่มทุนให้ได้ตามข้อกำหนดภายใน 1 ปี โดยผู้ประกอบการต้องขออนุญาตกับ ธปท. และ สศค. ภายใน 60 วัน นับจากประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และบทเฉพาะกาลมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคาดว่าจะลงประกาศประมาณสิ้นเดือนมกราคมนี้

ด้านกรรมการ ผู้บริหารต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากมีการทำธุรกิจ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันโดยไม่ยื่นขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมายมีโทษปรับ หรือจำคุก สำหรับวงเงินปล่อยสินเชื่อไม่กำหนดขึ้น แต่ขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ แต่กำหนดเพดานดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมไว้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี บวกค่าติดตามทวงถามหนี้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืน (ไม่เกิน 200 บาทต่อครั้ง) ห้ามคิดค่า prepayment fee ทั้งกรณีลูกค้าไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดทั้งจำนวน หรือบางส่วน ห้ามคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับบนดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม

ธปท. เชื่อว่า การเข้ามากำกับดูแลธุรกิจการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน จะส่งผลดีกับประชาชน เพราะจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในราคาที่เหมาะสม และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในอัตราไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี บวกค่าธรรมเนียมตามที่ ธปท. กำหนด ด้านผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาพรวมของประเทศจะสามารถบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้

ด้านประชาชนจะได้รับการดูแล ได้แก่ การได้รับวงเงินที่เหมาะสมตามความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ถูกเอาเปรียบจากค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกคิดดอกเบี้ยแพง และซ้ำซ้อน และยังสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมได้ การชำระสินเชื่อยังได้รับการแจ้งเตือนก่อนการจ่ายค่างวด และการขอสินเชื่อยังได้รับทราบรายละเอียด และเงื่อนไขการกู้ รวมถึงเงินต้นดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ กรณีมีเงินก็สามารถชำระหนี้ก่อนกำหนดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ได้รับการแจ้งล่วงหน้าก่อนยึดรถ และถ้าหากรถยนต์ถูกขายทอดตลาด ก็ได้รับส่วนต่างจากภาระหนี้คืน นอกจากนี้ ถ้าหากประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ เช่น มีการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กำหนด เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น