xs
xsm
sm
md
lg

สปิริตคนปล่อยกู้ “เอิร์ธ” / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานภาพของ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ คงต้องยุติลง หลังจากยื่นใบลา ขอพักงานเป็นการชั่วคราวจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 เพื่อปกป้องชื่อเสียงและมาตรฐานทางวิชาชีพของการเป็นนายธนาคาร รวมทั้งรักษาชื่อเสียงและผลประโยชน์ของธนาคาร

ไม่ว่าการลาพักงานชั่วคราวครั้งนี้จะเป็นการตัดสินใจด้วยตัว นายกิตติพันธ์ หรือถูกแรงกดดันก็ตาม แต่กรณีของนายกิตติพันธ์ ถือเป็นบรรทัดฐานที่น่าชนชมในสังคมของระบบสถาบันการเงิน

และเป็นบรรทัดฐานทางวิชาชีพที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยในวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะในสังคมการเมือง ซึ่งควรจะมีสำนึกในการแสดงสปิริต หรือการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้เป็นแบบอย่างมากกว่า

นายกิตติพันธ์ ถูกธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการเสนอปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 4,500 ล้านบาท สมัยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และได้แจ้งผลการสอบสวนของธนาคาร ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินของนายกิตติพันธ์

และแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนความผิดทางวินัยอีกด้วย

การถูกคณะกรรมการสอบสวนธนาคารกรุงไทย ตัดสินว่า มีความผิดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยทันที เพราะสถาบันการเงินดำรงอยู่ด้วยความเชื่อถือ

ถ้าผู้บริหารสถาบันการเงินมีพฤติกรรมที่ทำให้สาธารณชนขาดความน่าเชื่อถือ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คงลำบากใจในสถานภาพของนายกิตติพันธ์

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำหนดท่าทีไม่ถูกว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรกับ นายกิตติพันธ์ เพราะถ้าจะประกาศให้เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ความผิดที่ธนาคารกรุงไทย ระบุ ก็ยังต้องรอการสอบสวนและวินิจฉัยของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

แต่ถ้าปล่อยให้นายกิตติพันธ์ เป็นผู้บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยต่อไป แบงก์ชาติอาจถูกโจมตีได้ว่า เพิกเฉยหรือละเลยต่อการแก้ปัญหาผู้บริหารสถาบันการเงินที่มีมลทิน เพราะธนาคารกรุงไทยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จนมีหลักฐานระบุความผิดของนายกิตติพันธ์แล้ว

แม้ความผิดของนายกิตติพันธ์ ยังต้องรอการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าจะดื้อแพ่ง ดันทุรังที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป จะสร้างปัญหาให้หลายฝ่าย ไม่ว่าธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือแบงก์ชาติ และนายกิตติพันธ์ ก็อาจถูกโจมตีได้ว่า ไม่มีสปิริต ไม่แสดงความรับผิดชอบ และไม่ยอมเสียสละเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของระบบสถาบันการเงิน

การประกาศลาพักงานชั่วคราว เป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย ไม่มีใครต้องลำบากใจต่อสถานภาพของนายกิตติพันธ์ ส่วนความผิดในการปล่อยสินเชื่อให้ “เอิร์ธ” เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม และภายใน 3 เดือน น่าจะมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า นายกิตติพันธ์ มีความผิดตามที่ธนาคารกรุงไทยกล่าวโทษหรือไม่

แต่วันนี้ นายกิตติพันธ์ ทำในสิ่งที่ปุถุชนคนมีสำนึกในความรับผิดชอบต่อวิชาชีพต้องทำแล้ว ได้สร้างบรรทัดฐานของผู้บริหารสถาบันการเงินให้เป็นแบบอย่าง และสำนึกในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ หรือ ความตระหนักในการสร้างบรรทัดฐานที่ดี เป็นสิ่งที่หายากในวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะบรรทัดฐานในสังคมการเมือง



กำลังโหลดความคิดเห็น