ธนาคารโลกคาดการณ์จีดีพีปี 62 ที่ 3.8% ลดลงจากเดิมที่ 3.9%จากความเสี่ยงต่างประเทศที่สูงขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังเป็นบวกจากความแข็งแกร่งด้านเสถียรภาพ และแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยในประเทศ แนะรัฐเดินหน้าใช้กฎหมาย-พัฒนาทุนมนุษย์
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ที่ได้เปิดตัวในวันนี้นั้น คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 เติบโตที่ระดับ 3.8% และ 3.9% ในปี 2563 (ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2561 ที่คาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตได้ 4.1%) ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้การเติบโตต้องหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่วางแผนไว้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในปีหน้า และช่วยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจในระยะกลาง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ที่อาจชะลอลงอีกจนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนอาจจะชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมส่งออก รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในปัจจุบัน และอนาคต และการลดการนำเข้าเงินทุนจากประเทศเกิดใหม่ อาจจะส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในช่วงวิกฤตสกุลเงินตุรกี เนื่องจากประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข็มแข็งที่ร้อยละ 8.1 ของจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน
“ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 3.8% นั้น เป็นการปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% ซึ่งมาจากความเสี่ยงด้านต่างประเทศที่สูงขึ้น ขณะนี้ปัจจัยภายในมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งด้านการบริโภค การลงทุนเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปีก่อน ประกอบกับการลงทุนภาครัฐก็น่าจะทยอยออกมาได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องจับตาดูว่าจะสามารถออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหาอุปสรรคด้านจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการเมืองจะเข้ามาหรือไม่ แต่ขณะนี้ประเมินภาพรวมแล้วยังดูดี ประกอบกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และเสถียรภาพด้านการเงินแข็งแกร่ง นโยบายการเงินก็อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการเติบโต แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปครั้งหนึ่งแล้ว และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จึงน่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถต้านกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่จะเข้ามากระทบได้”
สำหรับปัจจัยทางการเมืองนั้น เวิล์ดแบงก์ มีมุมมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ผ่านกฎหมายที่สำคัญออกมาหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการเพิ่มวินัยทางการคลังให้มากขึ้น กฎหมาย EEC และกฎหมายภาษีที่ดินที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ สามารถนำไปใช้จริงได้เร็วและครบถ้วนได้แค่ไหน ซึ่งก็คงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเช่นเดียวกับกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ทั้งด้านการศึกษา และสุขภาพ ที่จะส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศในอนาคต