xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยคาดเศรษฐกิจปีนี้โต 4.1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรุงไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่อเนื่องที่ 4.1% การลงทุนเอกชนและภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อน จับตาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แนะภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงพร้อมปรับตัวในยุค Disruption

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai Macro Research คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.1% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 4.3% ในปีก่อน โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นการลงทุนเอกชน และภาครัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงหลังของปี จากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงมาตรการดูแลเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ จะช่วยเสริมกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

โดยคาดการณ์การส่งออก เติบโต 4.0% การท่องเที่ยว เติบโต 4.5% การลงทุนภาครัฐ เติบโต 7.2% การลงทุนภาคเอกชน เติบโต 5.5% อัตราเงินเฟ้อที่ 1.0% สินเชื่อ เติบโต 5.0% และค่าเงินบาทสิ้นปีที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ Krungthai Macro Research ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีความเสี่ยงจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่า ภาคการผลิตจะชะลอตัวถึงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทยได้

ด้านอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ อีก 0.25% สู่ระดับ 2.00% โดยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จะทำได้ยากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เรามองว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เพิ่มขึ้น 0.16-0.24% ซึ่งแม้จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็เป็นปัจจัยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วย

“เรามองว่า เดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนที่สำคัญ มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เกิดความผันผวนได้มาก ไม่ว่าครบกำหนดการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กรณี Brexit หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งของไทย จึงเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุน ต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งการป้องกันความเสี่ยงก็จะเป็นทางเลือกที่ดี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมืออีก อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสงครามการค้า ทำให้ดีมานด์ที่ไม่ชัดเจน ทำให้อาจจะเกิดภาวะสภาพคล่องทางการเงินลดลง รวมถึงการรับมือกับ technological disruption ในระยะยาวด้วย”

นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่สำคัญในปีนี้นั้น ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 2% การบังคับใช้มาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน และการหมดอายุของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวม LTF เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น