xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรฮวบร้อยละ 98-ค่าใช้จ่ายพุ่ง-รายได้ค่าฟีลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศผลการดำเนินงานปี 61 ที่ 6.9 ล้านบาท ลดลง 98.2% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากค่าธรรมเนียม-บริการลดลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม 5.3% จากสินเชื่อที่ยังเติบโตได้ 6.9% และสำรองหนี้สูญที่ลดลง 2.6% เอ็นพีแอล ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.3%

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 6.9 ล้านบาท ลดลงจำนวน 378 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.2 เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของปี 2560 โดยมีกำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 271.2 ล้านบาท ลดลงจำนวน 217.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.5 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานร้อยละ 9.6 และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้อื่น ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับสุทธิ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 2.6

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับปี 2561 และ 2560 รายได้จากการดำเนินงานปี 2561 จำนวน 13,536.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 381.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 544.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 จากการขยายตัวของสินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จำนวน 136.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม และบริการ รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง จำนวน 26.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้า และปริวรรตเงินตราต่างประเทศสุทธิกับการลดลงของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม และการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2560 เพิ่มขึ้นจำนวน 733.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ “Fast Forward” และขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 61.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 57.9

ส่วนอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin-NIM) สำหรับปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.71 ลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.89 เป็นผลจาก Yield on Earning Asset ลดลง

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เงินให้สินเชื่อสุทธิของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 227.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีเงินฝากจำนวน 234.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 220.1 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคาร เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97.2 จากร้อยละ 96.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560

ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 9.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 เนื่องจากธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การบริหารคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการในการเรียกเก็บหนี้ และมีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2561

และมีอัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 107.0 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เงินสำรองของธนาคาร และบริษัทย่อย อยู่ที่จำนวน 10.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินจากเงินสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 5.0 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 47.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 19.3 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 14.1
กำลังโหลดความคิดเห็น