xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ร่วมมือ “ก.ล.ต.-คปภ.” รับมือปัจจัยเสี่ยง-ตลาดเงินผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แบงก์ชาติระบุปี 2562 ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยยังมีความเสี่ยง จากการเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก และการก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการเงิน และเทคโนโลยี ย้ำแบงก์ชาติ, ก.ล.ต., คปภ. และหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน เตรียมเครื่องมือพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และดูแลติดตามความผันผวนอย่างใกล้ชิด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานประเมินเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินไทย ปี 2561 ว่า ปี 2561 ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (G3) และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่กระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ, ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง, เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ, ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ระบบการเงินไทยมีกันชน (buffer) ที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศได้ดี

แม้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติตตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตได้ ได้แก่ 1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เอื้อต่อการเก็งกำไร มีความเสี่ยงสูงขึ้น ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องการเก็งกำไรมากเกินความจำเป็น

2) พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) อาจจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ในวงกว้างยังคงมีต่อเนื่องภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ สะท้อนจากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลงชัดเจน สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ได้เร่งออกตราสารหนี้ และใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มขยายการลงทุนออกจากธุรกิจหลักดั้งเดิม และลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ระบบการเงินของไทยในปี 2562 ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินทั้ง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการจับสัญญาณ และเฝ้าระวังความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคเงินเงินของไทย รวมทั้งออกมาตรการดูแลในเชิงป้องกัน ไม่ให้ความเปราะบางในจุดหนึ่งลุกลามจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้


กำลังโหลดความคิดเห็น