xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.ไม่กังวลเงินเฟ้อหลุดเป้า-พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ว่าแบงก์ชาติเชื่อเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เตรียมเครื่องมือพร้อมในการดูแลเศรษฐกิจ ระบุปี 62 จีดีพีขยายตัวได้ 4% รับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ ด้านเงินเฟ้อมองต่ำกว่าเป้าหมาย ไม่น่ากังวล ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยยันยังต้องผ่อนคลาย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 4% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศ เช่น ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ-จีน ที่อาจมากกว่าที่คาด การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอาจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการที่สหราชอาณาจักร อาจออกสภาพยุโรป โดยไม่มีข้อตกลง หรือในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังขยายตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตร ด้านการใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่าที่คาด จากข้อจำกัดในการเบิกจ่าย และการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังมองว่า จีดีพีของไทยยังขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดย ธปท. พร้อมที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มี เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

“เราเป็นประเทศเปิดขนาดเล็ก และในระยะข้างหน้าต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกชะลอลงจริง และยังมีปัจจัยเสี่ยงมาจากหลายรูปแบบ แต่เรายังมองว่า จีดีพียังขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มมากขึ้น โดยเรามีเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมใช้ในการดูแลระบบเศรษฐกิจได้ หากเหตุการณ์ที่เข้ามาไม่ทำให้การประมาณการเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายว่า ในปัจจุบัน หากดูพัฒนาการจะพบว่า เงินเฟ้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ระยะเวลาที่เงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายนั้นยาวขึ้น เนื่องจากการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าทุกประเภทไม่เฉพาะสินค้าไอทีที่ถูกลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงราคาพลังงาน เช่น เชลล์แก๊สด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเกิดจากโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยี การเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

“เงินเฟ้อ ต้องบอกว่าเป็นผลจากราคาพลังงานเป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม และมีผันผวนสูง ดังนั้น เมื่อพิจารณา จะพบว่า ความกังวลที่เงินเฟ้อต่ำกรอบล่าง ไม่ได้กังวลมาก กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หากธนาคารกลางจะพิจารณาจะดูที่เงินเฟ้อจะถึงเพดานข้างบน หรือสูงมากกว่า เพราะหากเงินเฟ้อสูงมาก จะกระทบต่อสังคม ศักยภาพ และเศรษฐกิจ แต่หากเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างไปบ้าง และเป็นปัจจัยจากซัปพลาย เราจะต้องให้ความสำคัญการสื่อสารกับประชาชนรับทราบ” นายวิรไท กล่าว

ด้านแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป มองว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจไม่เป็นไปเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยจะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

“เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าดอกเบี้ย หรือส่วนต่างดอกเบี้ยควรมีที่เท่าไหร่ เพราะการทำนโยบายเศรษฐกิจต้องประสานนโยบายทั้งการคลัง และการเงิน และบริบทที่จำเป็นต้องใช้นโยบายแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นไปตามเบทไลน์ และชะลอลงรุนแรง การค่อยๆ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ส่งผลเท่าไหร่ เพราะหากทำต้องแรง ซึ่งย้อนไปเมื่อปี 2552 ในขณะนั้น เศรษฐกิจมีปัญหาเราปรับลดเยอะมาก ตอนปี 2558 ตอนนั้นมีวิกฤติทางการเมืองในประเทศธุรกิจชะงัก ส่งออกกระทบ นโยบายการคลังจึงไม่มีพื้นที่ รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ นโยบายตอนนั้นเราลดดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันจาก 2% เหลือ 1.5% ดังนั้น ในเวลานี้ถึงจุดที่มีโอกาสเราจะสะสมโพริซีสเปรดเอาไว้ เพื่อยามจำเป็น” นายวิรไท กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น