รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ ธ.กรุงไทย เผยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกปี 2019 ไม่ได้เลวร้าย สหรัฐฯ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ส่วนจีนแม้ได้รับผลกระทบสงครามการค้าแต่รัฐบาลยังประคองให้เติบโตต่อไปได้ คาดจีดีพีไทยยังโต 4.1% หลังประเมินผลกระทบสงครามการค้าแล้ว ระวังค่าเงินบาทแข็ง เหตุไทยเป็น safe heaven ด้านค่าเงินของภูมิภาค แรงขับเคลื่อนภาครัฐยังจำเป็น เพราะฐานรากยังเปราะบาง สินค้าเกษตรยังต่ำ เนื่องจากสต๊อกโลกยังเหลืออยู่
วันนี้(7 ม.ค.) ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงานสัมมนา "KrungThai Next Thailand Economic Challenges 2019 ปีหมูทองเศรษฐกิจไทยไปต่อ?" ที่โรงแรมดิ แอทธีนี โฮเทล แบงค็อก ตอนหนึ่งว่า ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019 ในมุมมองของธนาคารกรุงไทยนั้น เราคิดว่าการปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนเป็นเรื่องของการสะท้อนอารมณ์และความกังวลของนักลงทุนที่ยังมีอยู่ และความอ่อนไหวเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ในปี 2019 ในเรื่องของพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกไม่ได้เลวร้าย ในภาพรวมยังถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่ทำการค้าเยอะๆ อยู่ เราเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักลงทุนไม่ได้มีความกังวลในด้านเสถียรภาพทางต่างประเทศของเรา ถือว่าเรามีภูมิคุ้มกันในด้านเสถียรภาพอยู่พอสมควร
ในส่วนของสองประเทศหลัก เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังขยายตัวดี ตลาดแรงงานยังถือว่าแข็งแกร่ง ส่อให้เราเห็นแล้วว่า เศรษฐกิจหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ยังค่อนข้างแข็งแรงอยู่ แต่อีกส่วนก็ส่อนัยเหมือนกันว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็น่าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป c]tเป็นแนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งถ้าเขาขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เราก็ต้องเตรียมให้พร้อม เพราประเทศที่เป็น Emerging Markets คือเพื่อนบ้านของเราจะได้รับผลกระทบอีกระลอก แต่ค่าเงินบาท ยังคงเป็น Safe Haven Currency ของภูมิภาค คือเวลาที่ใครมีปัญหา เงินอาจจะไหหลออกจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา เขาอาจจะเอามาพักมาไว้ที่ของเรา เนื่องจากว่าไม่มีใครที่จะกังวลมากกับเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เงินบาทอาจจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้า คู่แข่งในภูมิภาคของเรา ซึ่งมีนัยต่อคนที่ทำการค้าทั้งส่งออกนำเข้า
ส่วนจีนที่เป็นคู่ค้า คู่กรณีของสหรัฐฯ ในสงครามการค้า ผลกระทบก็น่าจะเห็นชัดขึ้นในปี 2019 นี้ แต่ทางการจีน ได้พยายามใช้นโยบายช่วยประคับประคองให้จีดีพี ยังสามารถที่จะขยายตัวได้เหนือระดับ 6% ด้วยการปรับทั้งค่าเงินหยวนให้อ่อนลง ลดอัตราการสำรอง Reserve Requirement ของธนาคารพาณิชย์ เร่งใช้จ่ายงบประมาณ และอาจจะเห็นนโยบายเพิ่มเติมทางด้านภาษีด้วย ดังนั้นในภาพรวม เราก็ยังประเมินว่า จีนก็น่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวนั้นอาจจะย่อลงมาบ้าง
ในบริบทนี้ก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยบวกต่อไทย และไอเอ็มเอฟก็มองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2019 ก็น่าจะขยายตัวประมาณ 3.7% ก็เท่าๆ กับปี 2018
หันกลับมาดูประเทศไทย ธนาคารกรุงไทยเราประเมินว่า ในปี 2019 ยังจะโตได้ประมาณ 4.1% ชะลอลงบ้างจากปี 2018 ที่เรามองว่าน่าจะขยายตัวอยู่ประมาณ 4.3% ตัวเลขที่ประเมินนี้ได้คำนึงถึงผลกระทบของสงครามการค้าเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างของเราจะได้รับผลกระทบ อันที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนก็เสียเปรียบ แต่ถ้าอันไหนเป็นสินค้าที่ทดแทนสินค้าจากจีนได้ ก็อาจจะเป็นสินค้าที่ได้รับประโยชน์อยู่เหมือนกันจากการที่เขาย้ายมานำเข้า หรือซื้อของของเราแทนของของจีน รวมทั้งเราก็อาจจะเห็นในเรื่องของการย้ายฐานการผลิต หลบเลี่ยงจากจีนมาอยู่ที่เราด้วย
ดังนั้น โดยรวมๆ เราก็มองว่าการส่งออกของไทยก็น่าจะยังขยายตัวได้ 4-5% ปีนี้ ก็ยังถือว่าในภาพรวมเราก็ยังมีความหวังกับปี 2019
สำหรับการท่องเที่ยวก็คงจะมีบทบาทที่สำคัญต่อไป เราคิดว่าคนจีนยังมาเที่ยวประเทศไทย เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนจีนชอบ คุ้มค่า ราคาไม่แพง คนไทยน่ารัก รวมทั้งไม่ไกลจากบ้านเขาด้วย แต่เราคงต้องจับตาดูในเรื่องของกำลังซื้อของคนจีนด้วย เพราะว่าเขาอาจจะยังมาอยู่แต่ค่าเงินหยวนที่ถูกกดดันให้อ่อนลงไป รวมทั้งในปี 2019 เราอาจจะกลายเป็น Regional Safe Haven Currency ทำให้ค่าเงินหยวนเทียบกับค่าเงินบาท แล้วหยวนอ่อน อำนาจซื้อของเขาในการมาท่องเที่ยวในเมืองไทย ก็อาจจะลดทอนลงไปบ้าง
สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ธนาคารกรุงไทยยังมองว่า แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐยังจำเป็น ถ้าหากเราต้องการเติบโตที่ระดับประมาณ 4% เศรษฐกิจฐานรากของเรา ยังถือว่ามีความเปราะบางราคาสินค้าเกษตรก็น่าจะยังไม่ได้ดี เนื่องจากสต็อกโลกยังเหลืออยู่ และจีนที่ยังเป็นผู้บริโภคหลักของหลายสินค้า ก็อยู่ในภาวะที่อาจจะชะลอตัวลงบ้าง
ดังนั้น การใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ให้ทั่วถึงและให้มีประสิทธิภาพเพื่อประคองเศรษฐกิจฐานราก ในภาพรวมยังมีความจำเป็น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยสะดุดหรือย่อตัวลงกว่านี้
คำต่อคำ : ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงานสัมมนา "KrungThai Next Thailand Economic Challenges 2019 ปีหมูทองเศรษฐกิจไทยไปต่อ?" ที่โรงแรมดิ แอทธีนี โฮเทล แบงค็อก
กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ยังอยู่กับเรา จริงๆดิฉันคงไม่ได้มาพูดในเรื่องของนโยบายของธนาคารกรุงไทย หัวข้อที่เขาบอกให้มาพูดคือ ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019 ที่ได้มีโอกาสมาพูดก็เพราะว่า แอปฯ ของเรา แอปฯ เดียวอยู่ กรุงไทยเน็กซ์ ก็ถือว่า เป็นสปอนเซอร์หลักของงานสัมมนาในวันนี้ ดิฉันก็หวังว่า ธนาคารกรุงไทยจะสามารถนำเสนอมุมมองที่อาจจะเสริมภาพให้ท่านผู้ฟัง รวมทั้งลูกค้าของธนาคาร ซึ่งหลายๆท่านก็เห็นหน้ากันอยู่ เพื่อช่วยให้ท่านประเมินเศรษฐกิจต่างๆได้รอบด้านมากขึ้น
ในส่วนของประเทศไทยจริงๆแล้วท่านได้รับฟังทั้งความคืบหน้า ทั้งแนวโน้มตลอดจนเจตนารมณ์ของท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รวมถึงรัฐมนตรีของกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆต่างๆไปพอสมควรแล้ว หากมีอะไรที่ดิฉันพอจะเพิ่มเติมได้ น่าจะเป็นเรื่องของบริบทของประเทศไทยในฐานะที่เราเป็นประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Small-open economy
คือเราเป็นประเทศที่มีการค้าขายเยอะ ค้าขายกับต่างประเทศมาก เพราะฉะนั้นการกินดี อยู่ดี หรือการกินไม่ดี อยู่ไม่ดี ของประเทศอื่นก็จะส่งผลต่อเราได้ค่อนข้างมากเหมือนกัน และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องถือว่าตัวเองเป็นประเทศขนาดย่อม เราทำอะไรก็ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกระทบคนอื่นมากนัก แต่ว่าคนอื่นเขาทำอะไรหลักๆ ก็จะกระทบเราพอสมควร ถ้าเขาเป็นประเทศใหญ่ ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวถึงสงครามการค้าระหว่างอภิมหาอำนาจ 2 ประเทศไป อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ก็อาจจะมีประเด็นอื่นๆที่เราจะต้องจับตามอง จากเรื่องของบริบทโลกต่อไป
ดังนั้นดิฉันจะขอใช้เวลาประมาณครึ่งหนึ่งของการพูดคุยกันในวันนี้ กล่าวถึงมุมมองของตัวธนาคารกรุงไทยต่อเศรษฐกิจโลก แล้วที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งของเวลา จะขอพูดถึงปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่จะมีความสำคัญต่อธุรกิจไทยในยุคที่ดิฉันอยากจะนำเสนอว่า ในยุค 5D ดีภาษาอังกฤษ บางส่วนก็อาจจะเป็นดีไทยด้วย แต่ 5D นี้ ส่วนหนึ่งท่านรัฐมนตรีหลายๆท่านก็อาจจะพูดไปแล้ว แต่ก็จะขอสรุปออกมาเป็น 5D ซึ่งเป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย ที่จะอยู่กับเราไปอีกหลายๆปี เพราะสิ่งที่รัฐบาลจะทำแล้วตามบริบทเศรษฐกิจโลก ท่านยังต้องวางแผนเกินเลยไปกว่า 1 ปีข้างหน้า ท่านต้องวางแผนไปอีกหลายๆปีถ้าท่านต้องทำธุรกิจ เราต้องมารู้ว่าสิ่งที่เราจะกำหนดบทบาทสิ่งที่มีความสำคัญต่างๆ มีอะไรกับเราบ้าง
ก็ขอเริ่มด้วยเรื่องของบริบทเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยที่บอกว่าเป็น Small-open economy ก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็เห็นแล้วในปี 2018 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกจะว่าไปแล้วก็ยังอยู่ในช่วงที่มีการขยายตัว เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2016 แต่เราก็เริ่มเห็นสัญญาณของความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเยอะ และความไม่แน่นอนก็มาทั้งในเรื่องของประเด็นว่าบางประเทศขยายตัวอยู่ก็จริง แต่ก็มีคำถามว่า ก็น่าจะพ้นหรือเลยช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของอัตราการขยายตัวแล้วหรือยัง รวมทั้งว่าเราเริ่มเห็นว่ามี ปัจจัยเสี่ยง ที่มากขึ้น
โดยเฉพาะผลกระทบของความยืดเยื้อของสงครามเย็น ดิฉันเรียกว่า สงครามเย็นระหว่างอภิมหาอำนาจ ซึ่งมาในรูปของสงครามการค้า และเราเห็นช่วงหลังๆ ครึ่งหลังของปีชัดเจนขึ้นก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ในขณะที่ปัจจัยบวกต่างๆ มีน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่เศรษฐกิจหลักของโลกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษมาตลอดช่วงสิบปีก่อนหน้านี้ เราก็เริ่มเห็นเค้าถอนแรงกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินออกไป
สิ่งนี้ส่งผลให้ภาวะการเงินโดยรวมของโลกตึงตัวขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบแรงที่สุดก็คือประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เรารู้จักกันว่า Emerging Markets ไม่ใช่ทุกประเทศ แต่หลายประเทศได้รับผลในลักษณะของเงินทุนไหลออกที่มากจนธนาคารกลางของเขาต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุน ในประเทศเหล่านี้ ภาวการณ์ตึงตัวของการเงินจะค่อนข้างเยอะซึ่งก็จะมีผลกระทบกับเขา
บริบทที่ว่านี้ ก็ทำให้ตลาดโดยรวมหลักๆ ก็คือมีความกังวล เปราะบาง จากความกังวลนั้น เปราะบางนี่หมายถึงเปราะบางทางอารมณ์ และแสดงออกมาในรูปของความผันผวน ท่านก็คงจะเห็นแล้วว่าในช่วงปลายปี 2018 เอาแค่ 1 เดือนสุดท้ายแล้วกัน เราก็เห็นความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก มีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ดัชนี S&P 500 ลดลงไป 9% ดัชนี SET ของเราเองก็ลดลงไป 5% ราคาน้ำมันก็ลดลงไปมากกว่า 10% จนหลายๆคนรวมถึงทั้งวิดีทัศน์ตอนต้นของสัมมนานี้ก็ยังพูดถึงว่า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกหรือเปล่า อเมริกาจะเกิด Recessionในปี 2020 ได้มั้ย บางคนก็อาจจะหวั่นไหวไปด้วย และก็เกิดความกังวล
ในมุมมองของธนาคารกรุงไทยนั้น เราคิดว่าการปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุน บางช่วงมันก็รุนแรงจริง แต่เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของการสะท้อนอารมณ์และความกังวลของนักลงทุนที่ยังมีอยู่ และความอ่อนไหวเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ในปี 2019 ต่อไป
แต่ถ้าเราดูในเรื่องของพื้นฐานกัน เราคิดว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้เลวร้ายนะ ในภาพรวมยังถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่ทำการค้าเยอะๆ อยู่ คงไม่ใช่ว่าเราเป็นเศรษฐกิจเปิดและทำการค้าอย่างเดียว แต่เราเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักลงทุนไม่ได้มีความกังวลในด้านเสถียรภาพทางต่างประเทศของเรา ถือว่าเรามีภูมิคุ้มกันในด้านเสถียรภาพอยู่พอสมควร ฉะนั้นในจุดนั้นคิดว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเป็นบวก
ขอพูดเสริมขึ้นมานิดหนึ่งในส่วนของสองประเทศหลัก อย่างน้อยสรุปให้ท่านเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังขยายตัวดี ตลาดแรงงานยังถือว่าแข็งแกร่ง ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ของเวลาบ้านเรา ก็เห็นตัวเลขสำคัญในเรื่องของตลาดแรงงาน ที่ออกมาดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างงาน จำนวนการจ้างงาน และการเพิ่มขึ้นของรายได้
เงินเฟ้อของสหรัฐฯเองก็ค่อนไปในเชิงที่สูงนิดๆ สิ่งเหล่านี้แปลว่าอะไร เราต้องมาตีความก่อนว่า ตัวเลขออกมาแล้วมันแปลว่าอะไรสำหรับเรา ด้านหนึ่งคงต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะมันส่อให้เราเห็นแล้วว่า เศรษฐกิจหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ยังค่อนข้างแข็งแรงอยู่ แต่อีกส่วนก็ส่อนัยเหมือนกันว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็น่าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป แม้ว่าธนาคารกลางของเขาเริ่มออกมาพูดว่า อาจจะขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้มาก เท่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉลี่ยเฟดก็อาจจะมองว่า ขึ้นดอกเบี้ยสองครั้ง ในปี 2019 นี้ จากเดิมที่มองไว้ว่า 3 ครั้งแบบนี้ เป็นต้น รวมทั้งเขาก็มีเรื่องของแรงกดดันจากประธานาธิบดีที่ออกมาพูดว่า ไม่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่เราก็คิดว่าคงจะเป็นแนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่
และจริงๆแล้วความเสี่ยงถ้าจะมาจากว่า พื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแรง ความเสี่ยงก็จะมีว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจบางช่วงก็อาจจะออกมาดี และส่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังแข็งแรงกว่าที่คนคิด รวมทั้งถ้ามีเรื่องของแรงกดดันมาจากเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงเร็ว ก็มีความเป็นไปได้ อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เรามอง ณ ขณะนี้ ซึ่งถ้าเขาขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เราก็ต้องเตรียมให้พร้อมต่อให้เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นแต่เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเผื่อเกิดขึ้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นดิฉันว่าก็คงจะเป็นประเทศที่ Emerging Markets นั่นแหละ ที่จะได้รับผลกระทบอีกระลอก ซึ่งประเทศ Emerging Markets จำนวนหนึ่งก็คือประเทศที่อยู่รอบๆประเทศเรา เพื่อนบ้านของเรา ดิฉันไมได้กลัวค่าเงินบาทจะไหลออกยวบ เราจะเกิดเงินทุนไหลออกอย่างเยอะ ดิฉันคิดว่าจากภูมิคุ้มกันของเราอันนั้นไมม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้น และไม่ได้กลัวด้วยว่าเราจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เผื่อสกัดเงินทุนไหลออก อันนั้นคิดว่าคงจะไม่ใช่
ในตรงกันข้าม สิ่งที่ดิฉันคิดว่า เราอาจจะต้องทำใจว่าเราจะเห็น ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นมาแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ค่าเงินบาท กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า Safe Haven Currency ของภูมิภาค คือเวลาที่ใครมีปัญหา เงินอาจจะไหหลออกจากประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา เขาอาจจะไม่ได้ไหลออกไปไกล เขามาพักมาไว้ที่ของเรา เหมือนสมัยก่อนที่เราจะเห็นว่า ก็ทุกวันนี้ก็ยังเป็น ก็คือเงินเยนก็เป็นที่พักพิง เหมือนเป็นที่หลบภัย หลุมหลบภัย รอดู ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราเองก็มีลักษณะแบบนั้น เนื่องจากว่าไม่มีใครที่จะกังวลมากกับเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ซึ่งอันนี้แปลว่าอะไร แปลว่าเวลาเงินไหลออกจากประเทศอื่น ไหลเข้าประเทศเรา เงินบาทอาจจะอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินบาทอาจจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้า คู่แข่งในภูมิภาคของเรา ประเด็นนี้ที่ฝากไว้เพราะว่ามีนัยต่อท่านที่ทำการค้า ทำการขาย ไม่ว่าจะเป็นด้านส่งออก นำเข้า
อีประการหนึ่งที่เป็นนัยของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแรง ก็คือดิฉันคิดว่า ประเทศไหนที่เศรษฐกิจดี ผู้นำฮึกเหิม และในกรณีของสหรัฐฯ ปกติประธานาธิบดีสหรัฐฯ ท่านนี้ก็ฮึกเหิมมากอยู่แล้วแต่ดิฉันคิดว่า นี่เป็นโอกาสให้ท่านฮึกเหิมเพิ่มขึ้น แล้วสิ่งนั้นก็จะมีนัยต่อเราในลักษณะที่ว่า สงครามการค้าอาจจะยืดเยื้อ ยาวนาน กว่าที่เราคิด แน่นอนสหรัฐฯเอง อย่างที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีท่านบอกไว้ เขาก็มุ่งที่ประโยชน์ของประเทศเขา แต่ในสงครามการค้า ประเทศที่เป็นประเทศเล็กๆก็มักจะไม่ได้รับประโยชน์ ก็เสียประโยชน์
ในขณะเดียวกัน เราเห็นอะไร เราเห็นจีนที่เป็นคู่ค้า คู่กรณีของสหรัฐฯในสงครามการค้า เราก็เริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในระยะหลังก็ชะลอตัวลง เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น อันนี้ก็สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของจีนที่แผ่วลงมาเป็นลำดับ และตลาดก็ประเมินกันว่า ในเรื่องผลกระทบของสงครามการค้าต่อจีนก็น่าจะเห็นชัดขึ้นในปี 2019 นี้
อย่างไรก็ดี ทางการจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ประการใด เขาก็ได้พยายามใช้นโยบายช่วยประคับประคองให้จีดีพี ยังสามารถที่จะขยายตัวได้เหนือระดับ 6% ซึ่งก็ดีพอสมควร เขาก็ปรับทั้งค่าเงินหยวนให้อ่อนลง ล่าสุดก็ประกาศลดอัตราการสำรอง Research Requirement ของธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งแรก เป็นครั้งที่ 5 ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 1 ปี เขาก็พยายามดำเนินนโยบายที่จะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ยังไปได้
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้เร่งใช้จ่าย ประเทศเขาเป็นประเทศที่รัฐบาลมีพลานุภาพอยู่แล้ว สามารถจะดำเนินการในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเดี๋ยวอาจจะเห็นนโยบายเพิ่มเติมทางด้านภาษีด้วย ดังนั้นในภาพรวม เราก็ยังประเมินว่า จีนก็น่าจะขยายตัวได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวนั้นอาจจะย่อลงมาบ้าง จากปีที่ผ่านๆมา ทั้งหมดนี้ก็สรุปได้ว่า เศรษฐกิจโลก ในภาพรวมยังเดินต่อไปได้ แม้ว่าอาจจะเข้าสู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า เป็นจุดการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเมื่อสิบปีที่แล้ว อาจจะใกล้สิ้นสุดแล้ว แต่ก็ยังถือว่าปีนี้น่าจะไปได้
ในบริบทนี้ก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยบวกต่อไทย และไอเอ็มไอก็มองว่าเศรษฐกิจโลกปี 2019 ก็น่าจะขยายตัวประมาณ 3.7% ก็เท่าๆกับปี 2018
หันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง ว่าธนาคารกรุงไทยเราประเมินอย่างไร สำหรับประเทศไทยเราคิดว่า ในปี 2019 ยังจะโตได้ประมาณ 4.1% ชะลอลงบ้างจากปี 2018 ที่เรามองว่าน่าจะขยายตัวอยู่ประมาณ 4.3% แน่นอนว่าตัวเลขที่ประเมินนี้ได้คำนึงถึงผลกระทบของสงครามการค้าเข้าไปแล้ว เพราะว่าไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน และคงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
อย่างไรก็ดี ก็คงต้องเรียนว่า ก็ไม่ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างของเราจะได้รับผลกระทบ อันที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนก็เสียเปรียบ แต่ถ้าอันไหนจะเป็นสินค้าที่ทดแทนสินค้าจากจีนได้ ก็อาจจะเป็นสินค้าที่ได้รับประโยชน์อยู่เหมือนกันจากการที่เขาย้ายมานำเข้า หรือซื้อของของเราแทนของของจีน รวมทั้งเราก็อาจจะเห็นในเรื่องของการย้ายฐานการผลิต หลบเลี่ยงจากจีนมาอยู่ที่เราด้วย นี่ก็จะเป็นอีกด้านหนึ่ง
ดังนั้น โดยรวมๆ เราก็มองว่าการส่งออกของไทยก็น่าจะยังขยายตัวได้ 4-5% ปีนี้ ก็ยังถือว่าในภาพรวมเราก็ยังมีความหวังกับปี 2019
สำหรับการท่องเที่ยว เมื่อสักครู่ท่านพิธีกรก็พูดแล้วว่า ตัวเลขไม่เลว ก็คิดว่าการท่องเที่ยวก็คงจะมีบทบาทที่สำคัญต่อไป อย่างไรก็ดี เราคิดว่าคนจีนมาเที่ยวประเทศไทย ประเทศไทยเป็น destination สถานที่ท่องเที่ยวที่คนชอบ คนจีนชอบ และคุ้มค่า ราคาไม่แพง คนไทยน่ารัก รวมทั้งไม่ไกลจากบ้านเขาด้วย ก็ถือว่ามาแล้วสนุก
อย่างไรก็ดี ก็ขอฝากไว้ว่า เราคงต้องจับตาดูในเรื่องของกำลังซื้อของคนจีนด้วย เพราะว่าเขาอาจจะยังมาอยู่แต่ค่าเงินหยวนที่ถูกกดดันให้อ่อนลงไป รวมทั้งในปี 2019 ก็อาจจะมีโอกาสที่อ่อนลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับเงินบาทในภาวะที่เศรษฐกิจเขาอ่อนตัวลง แต่บางช่วง อย่างที่ได้เรียน เราอาจจะกลายเป็น Regional Safe Haven Currency ก็จะทำให้ค่าเงินหยวนเทียบกับค่าเงินบาท แล้วหยวนอ่อน อำนาจซื้อของเขาในการมาท่องเที่ยวในเมืองไทย ก็อาจจะลดทอนลงไปบ้าง มา
เที่ยวแต่ในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่ในรูปของเงินบาทก็อาจจะน้อยลง รวมทั้งคิดว่าเราต้องจับตาในภาคของอสังหาริมทรัพย์ ในจุดที่เป็นตลาดของคนจีนด้วย
สำหรับการใช้จ่ายในประเทศบ้าง ธนาคารกรุงไทยยังมองว่า แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐยังจำเป็น ถ้าหากเราต้องการเติบโตที่ระดับประมาณ 4% เพราะอย่างที่ท่านรัฐมนตรีหลายๆท่านได้เรียนไปแล้ว เศรษฐกิจฐานรากของเรา ยังถือว่ามีความเปราะบางอยู่ ราคาสินค้าเกษตรก็น่าจะยังไม่ได้ดี เนื่องจากสต็อกโลกยังเหลืออยู่ และจีนที่ยังเป็นผู้บริโภคหลักของหลายสินค้าดังที่เราทราบ ก็อยู่ในภาวะที่อาจจะชะลอตัวลงบ้าง
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆให้ทั่วถึงและให้มีประสิทธิภาพเพื่อประคองเศรษฐกิจฐานราก คิดว่าในภาพรวมยังมีความจำเป็น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยสะดุดหรือย่อตัวลงกว่านี้
ในภาพรวมๆ สำหรับเศรษฐกิจโลก ดิฉันคิดว่าไม่ได้แย่ แต่มีความผันผวน และไม่แน่นอน ถ้าในแง่ของสิ่งที่จะยังกังวลอยู่บ้าง ก็มีสัก 2+1 ประเด็นแล้วกัน
ประเด็นแรกก็หนีไม่พ้นเรื่องของการกีดกันทางการค้า ที่หลายท่านได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ แต่ดิฉันมองว่า มันมีโอกาสที่จะยืดเยื้อและไม่จบง่าย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างที่ได้เรียน น่าจะได้แรงหนุนให้แข็งกร้าวต่อไปได้ จากการที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างดี
ก็แน่นอนท่านอยู่ในภาคเอกชน โลกมีการปรับตัว ประชาชนก็ปรับตัว มีการ แหล่งการนำเข้า หรือย้ายฐานการผลิต แต่ภายใต้ความอึมครึม ความไม่แน่นอน มันส่งผลร้ายอยู่แล้วต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก แล้วถ้าเกิดว่ามีการลงทุนน้อย การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งช่วงนี้เราอยู่ในช่วง ดิสรัปทีฟเทคโนโลยี ก้าวหน้าเร็ว การเพิ่มผลิตต่างๆ ก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น หรือยืดเยื้อยาวนานกว่าที่เราคาดไว้ ก็คิดว่ายังไง ภาพรวมก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อโลก และไม่ได้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
ความเสี่ยงอีกตัวหนึ่งก็คือ โอกาสที่จะเกิดการปรับตัวที่รุนแรงและเฉียบพลันของตลาดการเงินโลก อันนี้ยังมีอยู่ แต่อาจจะไม่ตลาดต่อเนื่อง แต่ยังมีเป็นบางจังหวะที่รุนแรง เป็นพิเศษ เราเห็นมาแล้วในปี 2018 และคงจะต้องทำใจว่า ก็จะเห็นบ้างในปี 2019
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆทำอะไรที่ไม่คาดคิด เซอร์ไพรซ์ตลาด ซึ่งเป็นไปได้ เพราะธนาคารกลางทุกแห่ง พูดอยู่แล้วว่าตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลทางเศรษฐกิจ และหลายๆครั้งเราก็เห็นว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจก็ออกมาเซอร์ไพรซ์ตลาดได้จริงๆ
ส่วนที่แถมเป็นบวก 1 ก็คืออย่างที่ได้เรียน มันเป็นเรื่องของเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งเราได้ประโยชน์จากการที่ไม่มีใครเขากังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของเรา ภาวะการเงินของเราคงจะไม่ได้ตึงตัวขึ้น ผ่านในเรื่องของเงินทุนไหลออก ซึ่งในจังหวะที่อาจจะมีความผันผวนเป็นพิเศษ ของตลาดการเงินโลก แต่ว่าอย่างที่เรียนคงต้องจับตาดูในเรื่องของค่าเงินของเราเหมือนกัน เพราะมันจะแปลว่า ถ้าเราเป็น Safe Haven Currency การเคลื่อนไหวของค่าเงินจะไม่ได้เคลื่อนไหวในลักษณะ ที่สะท้อนพื้นฐานของเศรษฐกิจเรา
แล้วถ้ามันไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ภาพรวมมันก็ไม่ได้เอื้อมากต่อภาวะเศรษฐกิจ ถ้ามันสะท้อนพื้นฐาน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ขอฝากไว้กับท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย ว่าท่านก็อย่าจดจ่อแต่เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดาลลาร์อย่างเดียว ท่านก็อาจจะต้องดูด้วย ว่า ค่าเงินบาทเทียบกับ อาจจะคู่ค้ารายอื่นของท่าน ประเทศอื่น เป็นยังไง แล้วก็คงจะต้องพิจารณาป้องกันความเสี่ยงตามสมควร
ท่านผู้มีเกียรติคะ ที่กล่าวมาแล้วก็คือ เศรษฐกิจโลกในมุมมองของธนาคารกรุงไทยในระยะประมาณ 1 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราขยายมุมให้กว้าง และมองให้ไกลขึ้นอีกหน่อย เพื่อเราจะได้วางแผนล่วงหน้า ปรับตัวให้ทันสถานการณ์
ดิฉันอยากจะนำเสนอว่า เศรษฐกิจข้างหน้าเป็นยุค 5D ซึ่งมีทั้งโอกาสและความท้าทาย อยากจะขอถือโอกาสนี้ทำความเข้าใจกับ 5D เพื่อให้ท่านไปขบคิดต่อ ว่า D แต่ละตัวจะมีนัยต่อท่าน หรือธุรกิจของท่านอย่างไร และท่านจะใช้ประโยชน์ เลยจำเป็นต้องหาทางลดผลกระทบที่อาจจะไม่พึงประสงค์
5D บางตัวอาจจะไม่ใช่ทุกตัว อาจจะต้องดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับผลกระทบของ D บางตัว ต้องยอมรับสารภาพว่า 2-3 วันก่อน ก็มีเพื่อนร่วมงานมาแอบบ่นกับดิฉันว่า พี่ครับพี่มานำเสนอคำถามปลายเปิดด้วย 5D ของพี่จะดีหรือครับ ดิฉันก็บอกว่า 5D มันเป็นสิ่งที่จะมีบทบาทเยอะในเรื่องของควบคุมเศรษฐกิจโลก ควบคุมเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า แต่ถ้าจะถามว่ามันจะเอื้อให้เราประสบความสำเร็จ หรือมันจะเป็นอุปสรรค มันเป็นรายได้ทั้งสองทาง มันขึ้นอยู่กับเราด้วย
ถ้าเราใช้ประโยชน์จากมันได้มันก็เป็นตัวเกื้อหนุน แต่หากเราใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือเราปรับตัวตามมันไม่ได้ เอาชนะไม่ได้ หรือทำได้ช้ากว่าคู่แข่ง มันก็ไม่ดี ก็ขอนำเสนอ D ตัวแรกเลย
D ที่ 1 ท่านรัฐมนตรีหลายท่านได้กล่าวถึงไปแล้ว ก็คือ Digital Economy สิ่งที่เราได้เห็นรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ การผนวกคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิตัล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงข่ายพื้นฐานต่างๆ การนำร่อง การปรับค่าธรรมเนียม หรือการให้บริการของรัฐบาลเอง ด้วยช่องทางดิจิตัลที่เพิ่มขึ้นและอีกหลายๆ เรื่อง
จริงๆเราก็เห็นผลแล้วด้วย ในส่วนของภาคประชาชนเราเห็นประชาชนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นในยุคดิจิตัล เช่น สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ผ่านมือถือที่ติดตัวเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสาขา ไม่ต้องไปกดตู้เอทีเอ็ม ไม่ต้องทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
อันนี้ก็พูดถึงหน่อยเพราะว่ากรุงไทย Next เป็นสปอนเซอร์ของงาน นำมาเป็นแค่ตัวอย่าง ว่าทำบริการได้หลายเรื่อง และทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น เช้าๆจะไปทำงาน เติมบัตรทางด่วนได้ด้วยมือถือ จ่ายบิลได้ ชอปสินค้าผ่านเฟซบุ๊กได้ รวมทั้งทำบุญออนไลน์ก็ได้ ถ้าท่านจะช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยจากพายุปาบึก ดิฉันก็ทำมาแล้ว ใช้ผ่านกรุงไทย Next เมื่อช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็สะดวกดี และในอนาคตแอปฯ เหล่านี้ ก็จะทำอะไรได้มากขึ้น เพราะจะมีการเอาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาผนวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Artificial Intelligence ,Blockchain ,Cloud computing ,Data Analytic ,Internet of Things เป็นต้น ของพวกนี้ก็จะเข้ามาเสริมให้บริการต่างๆ ยิ่งรวดเร็ว ยิ่งง่าย ยิ่งประหยัดต้นทุน ยิ่งปลอดภัย และยิ่งมีความเป็นเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละท่าน ก็หวังว่าจะถูกใจลูกค้าแต่ละท่านมากยิ่งขึ้น
อีกส่วน ที่ได้ประโยชน์แล้วอย่างชัดเจนจากเศรษฐกิจดิจิตัล หรือความเป็นดิจิตัลของสังคมเราก็คือภาครัฐ ตามทฤษฎีตั้งแต่สมัยปรมาจารย์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของนโยบายการคลัง บอกไว้แล้วว่า นโยบายการคลังที่ดีต้องมีลักษณะ 3 ประการ คือ ไทม์ลี่ หรือดำเนินการได้รวดเร็ว ต้องดำเนินการได้อย่างตรงจุด และปัจจัยที่ 3 ก็คือ เทมเพอรารี หรือ ใช้เพียงชั่วคราวไม่ให้เกิดผลบิดเบือนทางเศรษฐกิจมากเกินไป
เราก็ได้เห็นแล้วว่าระบบดิจิตัล ช่วยให้ภาครัฐของไทยสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้แน่นอนไทม์ลี่ และทาร์เก็ตเต็ด รวดเร็วและตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการใช้บัตรสวัสดิการร้านธงฟ้า ก็สามารถเข้าถึง
กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุดไปกว่า 11 ล้านคน แล้วก็ควบคุมการรั่วไหลได้ดีขึ้น ในขณะที่ในอนาคตก็คงจะยังพัฒนาประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยี เช่น Data Analytic ต่อไปได้
ภาคธุรกิจเอง ท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ท่านก็พูดแล้วว่า สามารถใช้ดิจิตัล และควรใช้ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างการเติบโต ช่องทางออนไลน์เพื่อขายสินค้าของท่าน เราก็รู้อยู่แล้วว่าช่องทางออนไลน์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีการประเมิน ปี 2018 ประเทศไทยมียอดอีคอมเมิร์ซ สูงถึง 3.11 ล้านบาท อันนั้นยังไม่ค่อยเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 3 ปีก่อนหน้า ขณะที่ Google Temasek ก็ชี้ว่า มูลค่าอินเตอร์เน็ตอีโคโนมีของภาคเซาท์อีสเอเชีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโต 3 เท่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า
ความต้องการก้าวกระโดดขึ้นแน่ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจไทยยังอาจจะล้าหลังภาคประชาชน และภาครัฐบาล ในการใช้ประโยชน์จากดิจิตัล โดยอันนี้นำเสนอข้อมูลในเรื่องของ Digital adoption index ของธนาคารโลก เป็นการจัดทำตามธนาคารโลก หรือ World Bank ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาคประชาชนของไทย ถ้าจะนับดูว่า Digital adoption เป็นยังไง คะแนนจะสูงที่สุดใน 3 กลุ่ม ถ้าเกิดมีเรื่องของประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ รองลงมาก็คือภาครัฐ ก็ไม่น่าแปลกใจ จากข้อมูลที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้
ในขณะที่ภาคธุรกิจได้คะแนนต่ำที่สุด และที่สำคัญกว่านั้นต่ำกว่าประเทศเวียดนาม และประเทศฟิลิปินส์เสียอีก ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวไว้แล้วว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ซึ่งเราต้องแข่งขันกับเขา
อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เข้ามา บุกมาถึงประเทศของเรา ถ้าเราไม่คว้าโอกาสในส่วนนี้ คว้าโอกาสจากการใช้ประโยชน์ของดิจิตัล ก็จะมีคำถามว่า แล้วธุรกิจของไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จะสู้ไหวหรือเปล่าในระยะยาว นี่เป็น D ตัวที่หนึ่ง
สำหรับ D ตัวที่ 2 ในยุค 5D คือ Demographic Change สร้างประชากร ท่านสร้างอยู่แล้ว ไม่ใช่ประชากรโลกเท่านั้น ท่านสร้างประชากรไทย อยู่กันยาวนานมากขึ้น กลายเป็นสังคมสูงวัย นำมาซึ่งทั้งความท้าทาย และโอกาส แน่นอนความท้าทายมาจากการที่สังคมที่มีคนสูงอายุจำนวนมากก็มักจะขยายตัวช้า หรือแทบไม่ขยายตัวเลย เช่น ประเทศญี่ปุ่น เพราะด้านหนึ่งความต้องการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ก็จะน้อยลง คนยิ่งมีแนวโน้มจะอยู่นานก็ต้องมัธยัสถ์ประหยัดมากขึ้น เก็บหอมรอมริบมากขึ้น ไม่ค่อยใช้จ่าย ขณะที่ประชาชนในวัยแรงงานมีจำนวนน้อยลง ก็แน่นอนว่า จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ สัดส่วนที่สูงขึ้นของงบประมาณเพื่อการสวัสดิการต่างๆ จะต้องมาดูแลผู้สูงวัย ก็จะลดทอนลงมาเพื่อการลงทุนและพัฒนาประเทศด้านอื่นๆตามไปด้วย พูดอย่างนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี แต่จริงๆก็ไม่ใช่ทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน สังคมสูงวัยก็สร้างโอกาสให้กับคนที่เห็นโอกาส ดิฉันก็มานำเสนอข้อมูลว่า ท่านทราบหรือเปล่า ว่าผู้สูงอายุ จากการที่เราได้ไปดูข้อมูลมา ก็มีความต้องการพื้นฐาน ถ้าพูดให้คล้องจองหน่อย มีความต้องการพื้นฐาน 4 ด้าน เช่น สุขภาพดี มีเงินใช้ ชีวิตปลอดภัย ใฝ่หาเพื่อนฝูง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเราชี้ว่า มากกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยอยู่ในหมวดสุขภาพ และการเข้าสังคม ไม่ใช่สุขภาพอย่างเดียว การเข้าสังคมด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูหนัง หรือหลายๆ ท่านคงทราบมีการส่งรูปทักทายเพื่อนฝูงยามเช้าทุกเช้า แล้วท่านทราบหรือเปล่าว่า 2 ใน 3 ของสถานที่ของไทยที่ผู้สูงวัยประสบอุบัติเหตุไม่ใช่ที่อื่นไกล คือ ในบ้าน หรือในบริเวณบ้านของผู้สูงวัยนั่นแหละ อันนี้เป็นสถิติที่สอดคล้องกับที่เราไปดู ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ เพราะโดยเฉลี่ยผู้สูงอายุไทยใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านถึง 13% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งแน่นอนค่าใช้จ่ายซ่อมบ้านไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค แต่ท่านทราบไหมภาคใต้โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุใช้จ่ายปรับปรุงบ้านโดยเฉพาะ 28% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นตัวเลขที่สูง และบ่งชี้ว่า ความต้องการพวกอุปกรณ์ปลอดภัยในบ้าน อาจจะมีเยอะมากในสังคมสูงอายุ และท่านทราบไหมว่า ผู้สูงอายุไทยรายได้จากการทำงาน หรือรายได้ที่เป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ใช่ช่องทางหลักของการใช้เงิน เพื่อการดำรงชีพ ท่านอาจจะไม่แปลกใจ แต่ท่านทราบหรือเปล่าว่า 92% ของค่าใช้จ่ายของเขามาจากการแปลงสภาพสินทรัพย์มาจุนเจือการบริโภค อาจจะมีเงินเซฟวิ่งอยู่แล้วก็เอามาบริโภค หรือขายบ้านเพื่อเอามาบริโภค เป็นต้น รวมทั้งผู้สูงอายุไทย ท่านยังเอื้อเฟื้อส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานอีกด้วย
ดังนั้นคิดว่าในเรื่องของการแนะนำการลงทุน การาจัดสภาพคล่องให้กับผู้สูงอายุตลอดอายุขัยของท่านจะมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมสูงวัยของไทย ดิฉันเชื่อว่ายังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมสูงวัย ไม่เฉพาะสังคมสูงวัยไทย แต่สังคมสูงวัยโลกอีกเยอะ อันนี้เป็นโอกาสที่เราจะหยิบจับมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
นี้ตัวต่อมา อันนี้หลายๆ ท่านพูดไปก่อนหน้านี้ คือ De-globalization เป็นคลื่นที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น De-globalization คือ การที่โลกจะเห็นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่น้อยลง ไม่สดใสเหมือนเดิม เพราะว่าส่วนหนึ่งจะเริ่มเห็นการกีดกันทางการค้า กีดกันระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น ไม่ได้มีการขยายในเรื่องของการค้าการลงทุนมากเท่าๆ กับหลายทศวรรษที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องของ Brexit และเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน ที่อาจจะขยายวงกว้างขึ้นไปอีกก็ได้ในปี 2019
ใช่ค่ะ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวละครหลักที่ทำให้กระแส De-globalization ซึ่งมีอยู่แล้วมันทวีความเข้มข้นตื่นเต้นมากขึ้น หลายๆ ท่านอาจจะมองว่า ทรัมป์ไม่เมกเซนส์ แต่ที่ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกรุงไทยเราคุยกันว่า เราไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะอย่างแรกนโยบาย American frist อเมริกามาก่อน ทำให้สหรัฐฯ เลือกที่จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเฉพาะกับบางประเทศที่ตนเองมีอำนาจเหนือกว่า ทำให้เขาสามารถที่จะกำหนดข้อตกลงต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกาได้มากกว่า
เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ แล้วก็ทำได้เร็วด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอำนาจ สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเขา เขาก็ทำ อันนั้นถ้าเรามองความสำเร็จของอเมริกาในการเจรจาการค้าให้เสร็จไปเร็วๆ ไม่ว่ากับแคนาดา เม็กซิโก และเกาหลี อาจต้องให้เครดิตประธานาธิบดีทรัมป์เหมือนกัน เพราะดูกลยุทธ์นี้จะเวิร์คในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่สอง จีนนี่ไม่ใช่ จีนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยืดเยื้อ เพราะในหลายๆ เวทีของธนาคารกรุงไทย เรานำเสนอมาโดยตลอดว่า นี่ไม่ใช่สงครามการค้าธรรมดาๆ นี่คือสงครามด้านเทคโนโลยี และด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้จีนแซงไปได้ง่ายๆ ถามว่า ทำไมต้องมาทำเอาตอนนี้ คิดว่าที่ต้องมาทำเอาตอนนี้ ส่วนหนึ่งเพราะว่า เทคโนโลยีมีลักษณะการเติบโตแบบก้าวหน้าแบบยกกำลัง มันไม่ใช่ค่อยๆ ไป แต่เมื่อเทคโนโลยีรุดหน้าแล้วจะยิ่งรุดหน้าก้าวล้ำได้เร็วเป็นทวีคูณขึ้นไปอีก และจีนที่ผ่านมาก็พัฒนาไปได้รวดเร็วมากจริงๆ ในหลายๆ มิติ พร้อมกัน
เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ จึงต้องลุกมาเจาะจงที่จีน เพื่อชะลอความรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้ สำหรับประเทศขนาดเล็กแบบไทย เราต้องคำนึงถึงผลกระทบของ De-globalization ซึ่งประเทศเล็กแน่นอนมีความเสี่ยงอยู่แล้วที่จะเป็นผู้เสียเปรียบ ในการเจรจาต่างๆ ดังนั้นคิดว่าอย่างแรกในการผนึกกำลังของประเทศอาเซียนยังต้องมีความสำคัญในการลดผลกระทบเชิงลบจาก De-globalization นอกจากนั้น ภาคธุรกิจยังต้องจับตาเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ตลาดอาจจะมีความปั่นป่วนเป็นพิเศษ อย่างเช่นในช่วงวันที่ 2 มีนาคมนี้ จะเป็นเรื่องของกำหนดการการใช้ภาษีใหม่ของสหรัฐฯ กับจีน หากไม่มีการเลื่อนออกไปอีกรอบหนึ่ง และวันที่ 29 มีนาฯ ตามมาติดๆ เป็นวันที่รัฐบาลอังกฤษกำหนดให้เป็นวันออกจากสหภาพยุโรป เป็นต้น ยังมีความไม่แน่นอนอีกเยอะ แต่นี่ก็เป็นหมุดหลักที่ท่านต้องมีความระมัดระวัง
D ตัวต่อไปตัวที่ 4 ในยุค 5D คือ Debt Implication ในทีนี้จะขอให้ท่านผ่านความเปราะบางจากปัญหาหนี้สิน เมื่อดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า หนี้สินต่อจีดีพีของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งของประเทศไทยด้วยสูงขึ้นมา ถ้าเทียบกับช่วงก่อน Supply crisis และถ้าในกรณีนี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พูดถึงธนาคารแห่งประเทศไทยบ้าง เพราะเป็นทิศทางดอกเบี้ยของไทย มุมมองของธนาคารกรุงไทยโดยเฉลี่ยๆ ละกัน เราคิดว่า ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งที่ขนาด 25 basis point หรือ 0.25%ในปี 2019 ท่านบอกดูน้อย ปรับขึ้นครั้งเดียวน้อยไปไหม แต่เราคิดว่าในภาพรวมภาวะเงินเฟ้ออย่างต่ำล่าสุดออกมาต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับเศรษฐกิจในช่วงต้นปี น่าจะมีแนวโน้มที่อาจจะชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเรา และที่สำคัญเราประเมินว่า ธปท.มีความกังวลเรื่องหนี้ก็จริง อย่างที่บอกหนี้ของไทยอาจจะสูงขึ้นมาด้วย แต่ไม่ใช่ความกังวลแบบ Broad-based ความกังวลที่จะแก้ไขได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย
ในประเด็นนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเราแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มในระบบเศรษฐกิจ คือธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็ก และภาคครัวเรือน เราจะเห็นว่าความกังวลของ ธปท.จะมุ่งไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคครัวเรือนที่มี Financial access ค่อนข้างดี ที่ผ่านมาหาเงินกู้ที่ต้นทุนต่ำได้ค่อนข้างง่าย และหนี้เพิ่มขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้านี้ จนอยู่ในระดับที่อาจจะมองว่า ค่อนข้างสูง โดยรวมๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือภาคประชาชนต้องถือได้ว่่าเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัญหาของธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ใช่เรื่องของหนี้ที่เยอะเกินไป แต่ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นเรื่องของความกังวลเรื่องรายได้และการเติบโตมากกว่า รวมทั้ง ธปท.เองตระหนักว่า ธุรกิจเอสเอ็มอียังมีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่ออยู่ สะท้อนจากผลสำรวจของเขาเองแหละ ที่ล่าสุดสะท้อนว่า เอสเอ็มอีให้ความเห็นว่า การขอสินเชื่อยังมีขั้นตอนยุ่งยาก มีเงื่อนไขมาก มีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าประเมินหลักประกัน เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปี 2019 คิดว่าเราตีความว่า คงไม่ได้ต้องการที่จะเบรกไปกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้เป็นวินเนอร์ในระบบเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์มากในช่วงดอกเบี้ยต่ำที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นถ้าให้ตีโค้ดหรือรหัสของ ธปท. เรามองว่าแนวทางการดำเนินนโยบายคงมุ่งเน้นที่การสร้างเสถียรภาพเฉพาะจุดมากกว่า เน้นกลุ่มที่เป็นวินเนอร์ และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน หรืออาจจะเป็นที่มาของมาตรการคล้ายๆ มาตรการ“แม็คโคร พรูเด็นเชียล”ที่เราเห็นออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้กติกา LTV เข้มข้นขึ้น และคิดว่ามาตรการ“แม็คโคร พรูเด็นเชียล”น่าจะมีทยอยออกมาอีกในปี 2019
โดยสรุปจึงฝากไว้ว่า ท่านผู้ฟังอย่าโฟกัสแค่เฉพาะเรื่องที่จะขึ้น หรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องจับตาในส่วนของนโยบายพวก“แม็คโคร พรูเด็นเชียล”ที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมปีนี้ด้วย เพราะอาจจะมีผล หรืออาจจะไม่มีผลก็ได้กับธุรกิจของท่าน
D ตัวสุดท้ายคือ Divide โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงจาก 4D ที่กล่าวมา เกิดผู้ที่ได้เปรียบ และผู้ที่เสียเปรียบจึงนำมาซึ่ง D ตัวสุดท้ายที่กล่าวถึงก็คือในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ หลายๆ ท่านจริงๆ พูดไปก่อนหน้านี้ว่า โดยพื้นฐานเรามีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แต่ในยุคใหม่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ disruptive การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ มักจะถูกมองว่าเป็นยุคที่ winner takes off คืออาจจะมีคนได้ได้เปรียบจริงๆ ไม่กี่คน แต่จะเป็นคนที่ได้เยอะ ได้ประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ถ้าเรามองอย่างเช่น คนจำนวนมากอาจจะไม่ได้มีทักษะที่จะทำให้เขามีรายได้สูงๆ ในโลกยุคดิจิทัล เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันจะมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีทักษะที่ดี ที่ทันเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ จะทำให้เป็นคนที่มีเงินเดือนสูงมากๆ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นธรรมดาโลก แต่มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่สังคมจะมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านโอกาส เศรษฐกิจ และเกิดมีความไม่พอใจมากขึ้น เพราะฉะนั้น D ตัวนี้จริงๆ ขอพูดเพียงเป็นความเสี่ยงที่เราทุกคนต้องตระหนักเอาไว้ และพยายามช่วยกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำมาไปสู่จุดที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างราบรื่นของเศรษฐกิจไทย
ไทยผู้มีเกียรติคะ นั่นคือ 5D คือ Digital Economy , De-globalization Wave, Debt Implication , Divide ,Demographic Change ที่จะมีความสำคัญ ดิฉันอยากฝากฝากไว้เป็น Backdropของการวางแผนธุรกิจระยะกลางของแต่ละท่าน
สุดท้ายนี้ดิฉันแค่อยากสรุปว่า ดิฉันมีความเชื่อว่าปี 2019 จะยังเป็นปีที่มีปัจจัยบวกต่อธุรกิจ เศรษฐกิจโลกต้องถือว่า ดีพอสมควรไปต่อได้ และนโยบายของทางการที่ยังเกื้อหนุนอยู่ และไม่ได้มีเป้าหมายที่จะกระตุกให้เกิดการสะดุดล้มแต่ประการใด แต่แน่นอนยังมีเรื่องของความไม่แน่นอนต่างๆ รายล้อมอยู่ ของเราในเรื่องของธนาคารกรุงไทยในฐานะสปอนเซอร์ของวันนี้ ยินดีที่ได้มาพบกับทุกๆ ท่าน และขอขอบพระคุณที่ท่านให้ความสนใจในเรื่องของงานสัมมนา และหวังด้วยว่าธนาคารของเราจะมีโอกาสรับใช้ท่าน รวมทั้งธุรกิจของท่านต่อไปอีก ขอบคุณค่ะ