xs
xsm
sm
md
lg

ALT ปรับโครงสร้างธุรกิจโอน “โครงการ SRT” มูลค่า 613 ล้านให้บริษัทย่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บมจ. เอแอลที เทเลคอม ปรับโครงสร้างธุรกิจ หวังรองรับการขยายงานในอนาคต โดยโอนโครงการ SRT ให้บริษัทย่อย “อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์” มูลค่ารวม 612.73 ล้านบาท

นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT แจ้งว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้มีความคล่องตัว ภายใต้การแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยโอนขายโครงข่ายใยแก้วนำแสงพร้อมวงจร และอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องตามแนวทางรถไฟและทางหลวง (โครงการ SRT) ให้แก่บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นอยู่ 100%

โดยการโอนโครงข่าย SRT ดังกล่าว จะดำเนินการได้เมื่อ IG ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม จากคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว ซึ่งปัจจุบัน เงื่อนไขดังกล่าวมีความสมบูรณ์ครบถ้วน จึงพร้อมดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจตามที่คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติก่อนหน้านี้

สำหรับรายการทรัพย์สินที่โอน มีมูลค่ารวม 612.73 ล้านบาท โดย IG จะชำระราคาให้แก่ผู้ขาย คือ บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 6.15 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นมูลค่าหุ้นทั้งสิ้น 615 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าส่วนเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย จำนวน 2.27 ล้านบาท บริษัทจะชำระคืนแก่ IG ด้วยเงินสด

ส่วนการปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความชัดเจนและคล่องตัวในการบริหารงาน โดย IG เป็นบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการนี้เป็นการเฉพาะมีคณะผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์เฉพาะด้าน สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ ส่วนทรัพย์สินที่บริษัทโอนให้แก่ IG นั้น เป็นเพียงบางส่วนของทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น ในโครงการ SRT เอง บริษัทยังคงเหลือจำนวนคอร์เคเบิลบนโครงข่ายที่เพียงพอต่อการให้บริการ Dark Fiber แก่ลูกค้าผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecome Operator) ทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะต่างจาก IG ที่ให้บริการแต่เพียง Bandwidth เท่านั้น ไม่มีบริการ Dark Fiber ซึ่งจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศเป็นสำคัญ ฉะนั้น ทั้งสองบริษัทจึงไม่มีความขัดแย้งกันเองในการให้บริการแก่ลูกค้า

นอกเหนือจากโครงการ SRT ดังกล่าว บริษัทยังคงมีทรัพย์ที่ได้ลงทุนในโครงการอื่นๆ เช่น โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 เส้นทางของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน และถนนพญาไท โครงการนวนครสมาร์ทซิตี้ ในส่วนของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงภายในสวนอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการ BTS Xpress Wi-Fi ที่เปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น