xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ไตรมาสแรกปี 62 ยังมีอนาคต กูรูเชื่อหุ้นไทยฟื้น-เงินไหลกลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - ตลาดหุ้นไทยไตรมาสแรกปี 62 ยังมีอนาคต กูรูเชื่อการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่ เพิ่มความมั่นใจนักลงทุน ดึงเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับ จาก P/E ที่อยู่ในระดับต่ำแล้ว ชี้ภาพรวมไม่คึกคักแต่ไม่หลุด 1,500 จุด ส่วนทั้งปีอยู่ระดับ 1,700 จุด ยกหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ท่องเที่ยว ไฟแนนซ์ โดดเด่น



“ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ว่า ประเมินภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 1/2562 ยังคงมองเป็นบวก โดยปกติเลยจากการที่รัฐบาลใหม่ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินใช้จ่ายในนโยบายต่างๆ ตามที่พรรคตนเองได้โฆษณาหาเสียงไว้ ซึ่งแทบทุกพรรคจะเน้นในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศมองว่าจะเป็นบวกหนุนดัชนีหุ้นไทย โดยมาจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่คาดว่า ผลออกมาในลักษณะที่เป็นเชิงบวก

“อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1/2562 บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนอาจจะไม่คึกคักมากนัก แต่ก็ไม่เลวร้ายถึงขนาดที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงแตะ 1,580 จุดได้ แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายขึ้นจริง และดัชนีลดลงมาที่ระดับ 1,550 จุด ให้พิจารณาในมุมมองของค่า P/E ตลาดหุ้นไทยก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง ฉะนั้น มองว่า นักลงทุนจะยังคงเลือกลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าจะเกิดการชะลอตัวลงไปบ้าง ทั้งนี้ หากทิศทางบวกของปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เป็นไปอย่างราบรื่น และปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ เป็นไปด้วยดี ประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นมาบวกที่ระดับ 1,700 จุดได้”

ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระแสข่าวการเลือกตั้ง ส่วนตัวยังคงให้น้ำหนักอยู่ที่หุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL เนื่องจากมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมูลค่าหุ้นในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ขณะที่ CPN ยังมีช่องทางในการแสวงหากำไรจากธุรกิจที่หลากหลาย จากการปรับปรุงสาขาให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับกำลังซื้อที่จะเข้ามา อีกทั้งยังเตรียมที่จะรับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจอสังหาฯ ภาคแนวตั้ง

สำหรับหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ทุกรัฐบาลพยายามผลักดัน เพื่อดึงเม็ดเงินนักท่องเที่ยวเข้าประเทศนั้น โดยรวมยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะหุ้น AOT และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรมอย่าง CENTEL และหุ้นกลุ่มคอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ ได้แก่ SAWAD, MTC, KTC, AEONTS จากการที่ผ่านมา ธุรกิจคอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ มีการเติบโตต่อเนื่องถึงกว่า 20% ต่อปี ตลอดจนกลุ่มสถาบันการเงิน และนิคมอุตสาหกรรม เช่น AMATA หรือ WHA และกลุ่มปิโตรเคมี ที่มีการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ เช่น IVL , PTTGC

ในส่วนหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับปัจจัยลบในช่วง ไตรมาส 1/2562 ได้แก่หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากความคลุมเครือไม่ชัดเจนของสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มอสังหาฯ อาจจะมีการปรับตัวลดลง จากความต้องการซื้อของประชาชนที่ลดน้อยลง สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่ไม่มีความชัดเจนในด้านนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่วิกฤตฟองสบู่

ขณะที่หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นในปี 2561 จากปริมาณการสั่งซื้อรถยนต์ของต่างประเทศ และมีรถรุ่นใหม่ๆ ออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2562 มองว่า ยอดขายอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากมีปริมาณการซื้อจำนวนมากในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยปกติหลังการเลือกตั้งแล้วมักจะไม่ค่อยมีการประมูลโครงการภาครัฐในโปรเจกต์ใหม่ๆ

“ขอให้นักลงทุนบริการจัดการความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยลบหลายๆ ด้าน ที่ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่มีมาร์จินสูงลง และไปเน้นการลงทุนในหุ้นปันผล ซึ่งในไตรมาส 1/2562 จะเป็นช่วงที่ใกล้วันขึ้นประกาศ XD ควรเน้นหุ้นที่ปันผลในระดับประมาณ 3.5%-4% ขึ้นไปเพราะเป็นหุ้นที่มีกำไรและจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และเป็นการเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นน้อยลงด้วย”

ด้าน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวเพิ่มเติมว่า มองตลาดหุ้นไทยไตรมาส 1 ปี 2562 มีทิศทางบวกเนื่องจากเม็ดเงินการลงทุนของต่างประเทศที่ไหลออกไปก่อนหน้านี้มีจำนวนมากแล้ว ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นที่ปิดโอนขณะนี้เหลือเพียง 22.6% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในประวัติการณ์แล้ว ดังนั้น เชื่อว่า หุ้นไทยถูกลดความน่าเชื่อถือในการลงทุนมานานพอแล้ว ประกอบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง จึงมีความเป็นไปได้ที่เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา

“ภาพรวมการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2562 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,680 จุด จากดัชนีทั้งปีที่ประเมินไว้ที่ 1,795 จุด โดยปัจจัยบวกจะมาจากค่า P/E ที่ 14.7 เท่า ซึ่งถือว่าถูกแล้ว และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะกระตุ้นนโยบายต่อเนื่องผลักดันให้ดัชนีเป็นบวกต่อไปได้อีก ส่วนปัจจัยลบยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งทางสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเอเซีย และอเมริกา ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำจบลงอย่างชัดเจน”

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกในไตรมาสที่ 1/2562 ได้แก่ หุ้นกลุ่มค้าปลีก, ไอซีที, สถาบันการเงิน และนิคมอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี

ด้าน “ธีรศักดิ์ ธนวรากุล” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้ความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 1/2562 จะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4/2561 แต่ความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงอาจจะไม่มากนัก

“ประเมินแนวรับจุดต่ำสุดไว้ที่ 1,550 จุด ส่วนแนวต้านประเมินไว้ที่ 1,670 จุด หากการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเกิดขึ้นและความตึงเครียดระหว่างกันผ่อนคลายลง น่าจะส่งผลต่อมุมมองการลงทุนในเชิงบวก โดยพิจารณาจากการประชุมนอกรอบ G20 จะเห็นว่าท่าทีของจีนที่มีต่อสหรัฐดีขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณในเชิงบวกของความขัดแย้งที่จะคลี่คลายลง ”

ทั้งนี้ มุมมองต่อสถานการณ์การเมืองที่รัฐบาล คสช. ได้ประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งหากว่ามีเหตุสุดวิสัยที่จะต้องเลื่อนออกไป คาดว่าจะไม่เกินเดือน เม.ย. โดยตลาดอาจจะมีการชะลอตัวลงบ้าง เพื่อรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี จากภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2561 ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากความกังวลสงครามการค้าที่มีมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาจจะกลับมาเป็นบวกในปี 2562 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ปรับตัวลดลงไปบ้างจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต แต่จะมีนักท่องเที่ยวจากทางฝากฝั่งยุโรปและเอเซียบางส่วนที่หลบเลี่ยงอากาศในฤดูหนาวไหลกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นส่วนสำคัญที่ชดเชยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่พร่องหายไป โดยหากพิจารณาจากตัวเลขล่าสุดที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3% ซึ่งส่งสัญญาณค่อนข้างดีต่อภาพรวมธุรกิจการท่องเที่ยว

“เราประเมินเป้าหมายดัชนี SET Index ของปี 2562 ไว้ที่ประมาณ 2,000 จุด จากปัจจัยบวกที่มาจากการประกาศการเลือกตั้งในประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ นำเม็ดเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยหุ้นที่มองว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวก ได้แก่ หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น AMATA เนื่องจากการเดินหน้านโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของรัฐบาลที่มีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มธนาคาร ได้แก่ BBL และ KBANK ที่มีการพัฒนาธุรกรรมการเงินออนไลน์ เพื่อรองรับความต้องการทางการเงินของประชาชนได้สะดวกหลากหลายช่องทาง และหุ้นกลุ่มปูนใหญ่ ที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ”


กำลังโหลดความคิดเห็น