ตลาดทุนไทย ชี้นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาเทคโนโลยีทางการเงินที่เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจตลาดทุนอย่างมาก เพราะสามารถประยุกต์การใช้งานได้หลากหลาย ชี้ Venture Capital (VC) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% ในปี 2560 สะท้อนภาพการลงทุนในอนาคต
นายศิริยศ จุฑานนท์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงมุมมองต่อเทคโนโลยีด้านการเงินในธุรกิจตลาดทุนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจเนื่องจากมีการเจริญเติบโตที่สูงว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ลงทุนคงสังเกตได้ว่าเทคโนโลยีทางการเงิน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “FinTech” ซึ่งย่อมาจาก “Financial Technology” กำลังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจตลาดทุนอย่างมาก เช่น ผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น โดยการออก Initial Coin Offering (ICO) หรือการระดมทุนผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น bond และ start-up platform นอกจากนี้ FinTech ยังช่วยให้ผู้ให้บริการในธุรกิจตลาดทุนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย โดยผู้ลงทุนไม่เพียงแต่จะสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงแล้ว เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับบริการที่สอดคล้องต่อความต้องการของตนได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการในธุรกิจตลาดทุนจำเป็นต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพของการบริการ รวมไปถึงการควบคุมต้นทุนของการบริการ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและรักษาฐานของลูกค้าไว้ให้ได้
จากการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจตลาดทุนหลายแห่งมีการพูดถึงแนวคิด หรือวิธีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งการทำงานภายใน รวมถึงการให้บริการลูกค้าภายนอกบริษัท ซึ่งแม้ว่าหลายท่านอาจจะมีทัศนคติเกี่ยวกับนวัตกรรมว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวและเข้าถึงยาก แต่จริงๆ แล้วนวัตกรรมเป็นเพียงแนวคิดหรือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกของโลก แต่อาจเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว
“นวัตกรรม ต้องประกอบด้วยสองส่วนคือ ประดิษฐกรรม (Invention) และการนำเข้าสู่ตลาด (Commercialization) โดยประดิษฐกรรมเพียงอย่างเดียวจะยังไม่นับว่าเป็นนวัตกรรม หากไม่สามารถทำให้เกิดความต้องการจริงในตลาดได้”
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกลางในธุรกิจตลาดทุน มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุน หรือผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุน จึงได้จัดโครงการ Capital Market Innovation Awards 2018 การประกวดสุดยอดนวัตกรรมตลาดทุนครั้งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริมและสร้าง Awareness แก่ผู้มีส่วนร่วมในแวดวงตลาดทุน และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการในธุรกิจตลาดทุน รวมไปถึงสตาร์ทอัป FinTech มหาวิทยาลัย และประชาชนให้ผลิตนวัตกรรมด้านตลาดทุนที่ทันสมัย สร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
แม้ว่าโครงการ Capital Market Innovation Awards ในปีนี้จะสิ้นสุดลงและได้ผู้ชนะเรียบร้อยแล้ว แต่หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะหน่วยงานกลางที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาด้าน FinTech ในตลาดทุนไทยนั้นยังต้องอาศัยการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การศึกษาแนวโน้มว่าเทคโนโลยีใดกำลังจะมีบทบาทในอนาคต และจะกระทบธุรกิจใดในห่วงโซ่ธุรกิจตลาดทุนมากที่สุด รวมไปถึงสภาวะการแข่งขันและอุปสรรคในการพัฒนาจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนในกลุ่ม Emerging Market ดังนั้น ความก้าวหน้าด้าน FinTech รวมไปถึงการศึกษาและงานวิจัยในด้านนี้จึงยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีพื้นที่ให้ทำการศึกษาอยู่มาก สำหรับการสำรวจนี้ได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาเรื่อง Fintech Decoded; Capturing the opportunity in capital market infrastructure ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่าง World Federation of Exchange (WFE) 1 และบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดังอย่าง McKinsey ซึ่งทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับ 46 สมาชิกของ WFE และ สตาร์ทอัป FinTech จากทั่วโลก เกี่ยวกับโอกาสการเติบโตของ FinTech ในธุรกิจตลาดทุน โดยแบบสำรวจในการศึกษานี้ได้ถูกดัดแปลงจากต้นฉบับเพื่อให้เข้ากับบริบทของผู้ประกอบการในแวดวง FinTech ของประเทศไทย และถูกจัดส่งไปในช่องทาง Online Survey โดยในแบบสอบถามประกอบด้วยคำถามทั้งหมด 22 คำถาม ซึ่งหลักๆ แล้วเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ FinTech ในไทย รวมถึงโอกาสของธุรกิจในตลาดทุนที่จะนำ FinTech มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ลงทุนในอนาคต
โดยกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจครั้งนี้เน้นไปที่ผู้เข้าร่วมโครงการ Capital Market Innovation Awards จำนวน 60 ราย ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ และสมาคม ทั้งหมด 31 ราย และกลุ่มสตาร์ทอัป FinTech อีก 29 ราย ทั้งนี้ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 23 ราย คิดเป็น 38% ของแบบสำรวจที่ส่งไปทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงิน 13 ราย และสตาร์ทอัแ FinTech 10 ราย โดยผู้ร่วมตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัท รวมถึงเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัป FinTech ทำให้มั่นใจได้ว่าผลการสำรวจจะมีข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนา FinTech อย่างแท้จริง โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามถึง 48% ประเมินว่า ตนเองมีความคุ้นเคยในธุรกิจ FinTech อยู่ในระดับสูง ในขณะที่มีผู้ประเมินว่าตนเองมีความคุ้นเคยอยู่ในระดับปานกลางและระดับพื้นฐาน อยู่ที่ 39% และ 13% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าจำนวนบุคลากรที่อยู่ในการพัฒนา FinTech โครงการหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-20 คนต่อโครงการ
ขณะที่ด้านมูลค่าการระดมทุน พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจยังไม่มีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ผู้ที่มีแผนจะระดมทุนเพิ่มในอีก 1-2 ปีข้างหน้านั้นต้องการเงินทุนมากกว่า 250 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด และช่วง 10-25 ล้านบาท อยู่ที่ 13% และช่วง 50-100 ล้านบาท คิดเป็น 9%
ในส่วนของ stage ของ FinTech ที่ตนกำลังพัฒนาอยู่นั้น พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฐานลูกค้าเริ่มขยายและต้องการ scale up อยู่ที่ 39% และอยู่ในช่วงเพิ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการ และกำลังดูผลตอบรับจากลูกค้าอยู่ 35% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด มีเพียงประมาณ 26% ที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาแนวคิดหรือ prototype แต่ยังไม่ได้นำเสนอต่อลูกค้า
ขณะที่แนวโน้มการประยุกต์ใช้ FinTech ในธุรกิจตลาดทุนไทยประเมินจากผู้ร่วมตอบแบบสำรวจว่าธุรกิจใดในห่วงโซ่ตลาดทุนที่จะถูกขับเคลื่อนด้วย FinTech มากที่สุด ทั้งกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มสตาร์ทอัป FinTech เห็นตรงกันว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูล (Data analytics) กำลังเป็นที่นิยมมากที่สุด สังเกตได้จากผู้ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมของโครงการ Capital Market Innovation มีหลายทีมที่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ เช่น CRM system for better communication by AVA, Odini by Robowealth, Skynet, Digital Wealth Revolution จาก บล.หยวนต้า เป็นต้น โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงประเมินว่า FinTech ในด้านนี้ยังคงมีความสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ธุรกิจอื่นๆ ที่คาดว่า FinTech จะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนรองลงมาได้แก่ Trade execution และ Operations and technology ตามลำดับ
นอกจากนี้ Artificial intelligence (AI) ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองที่สุด โดยกลุ่มสถาบันการเงินและกลุ่มสตาร์ทอัป FinTech ยังคงมีมุมมองที่ตรงกัน อีกทั้งยังสอดคล้องต่อธุรกิจวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลในตลาดทุนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าด้วย เพราะในยุคดิจิทัลที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ปริมาณของข้อมูลที่นับวันจะมีอัตราเติบโตมากขึ้นจนเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจได้ ดังนั้นการจะนำ AI มาทำหน้าที่เป็นเหมือนสมองกลจึงน่าจะมีความสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ได้ดีขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีด้าน Cloud and quantum computing, Distributed ledger technology (DLT) และ automation and robotics ยังเป็นเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้กับ FinTech ในมุมมองของผู้ตอบแบบสำรวจ
ขณะที่มุมมองของสตาร์ทอัป FinTech ที่มีต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการ เป็นมิตรหรือศัตรู? นั้นสตาร์ทอัป FinTech ถูกมองว่าเป็นมิตรมากกว่าศัตรู โดยจากคำถามในแบบสำรวจที่สอบถามทั้งกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มสตาร์ทอัป FinTech ถึงบทบาทในธุรกิจของตนพบว่า 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่าทั้งสองกลุ่มนี้จะสามารถหาวิธีทำงานร่วมกันได้ โดย 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจประเมินว่าสตาร์ทอัป FinTech จะถูกว่าจ้างให้เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในบางหน่วยธุรกิจของสถาบันการเงิน อีก 26% ประเมินว่าสตาร์ทอัป FinTech จะถูกควบรวมเข้ากับสถาบันการเงินกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ และมีเพียงผู้ตอบแบบสอบถามเพียงรายเดียวที่ตอบว่าสตาร์ทอัป FinTech นั้นเป็นคู่แข่งโดยตรงกับสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา Business model ของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่า สตาร์ทอัป FinTech นั้นมีลักษณะธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของสถาบันการเงิน โดย 70% ของสตาร์ทอัป FinTech ทั้งหมดนั้นมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Business-to-Business (B2B) จากรูปที่ 4 ในขณะที่กว่า 85% ของกลุ่มสถาบันการเงินนั้นมีการทำธุรกิจแบบ Business-to-Consumer (B2C) ทำให้ทั้งสองกลุ่มนี้มีการแยกกลุ่มลูกค้าออกจากกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มสถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการกับผู้ลงทุนโดยตรงและกลุ่มสตาร์ทอัป FinTech ส่วนใหญ่นั้นเน้นไปที่การร่วมมือกันกับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเท่านั้น
เนื่องจากสตาร์ทอัแ FinTech เป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กทำให้ต้องเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อีกทั้งสตาร์ทอัป FinTech ยังเป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่และมีโครงสร้างบริษัทที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งอาจมี legacy system ที่ซับซ้อนยากต่อการพัฒนา โดย 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด
ประเมินว่าการมุ่งเน้นแก้ไข pain point เฉพาะจุดในห่วงโซ่ธุรกิจตลาดทุนนั้นคือจุดเด่นของสตาร์ทอัป FinTech มากที่สุด อีก 22% นั้นประเมินว่าความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วคือจุดแข็งที่รองลงมา นอกจากนี้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดว่ากฎระเบียบการควบคุมของภาครัฐดูแลสตาร์ทอัป FinTech นั้นผ่อนปรนมากกว่าสถาบันการเงิน และไม่มีผู้ตอบแบบสำรวจคนใดเลยคิดว่าสตาร์ทอัป FinTech สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพได้เหนือกว่าสถาบันการเงิน
หากพิจารณาถึงวิธีการร่วมมือกันระหว่างสตาร์ทอัป FinTech และสถาบันการเงินนั้น พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 65% ประเมินว่าการร่วมมือกันโดยการจัดตั้ง Joint Venture คือรูปแบบที่ดีที่สุด และอีก 39% มีความเห็นว่าควรร่วมมือกันโดยเพียงสร้าง Collaboration Agreement ขึ้นเท่านั้น ในขณะที่มีเพียงประมาณ 13% ที่ต้องการให้มีการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสำรวจยังอยากให้สตาร์ทอัป FinTech อนุรักษ์ความเป็นอิสระและยืดหยุ่นในการทำงาน
ทั้งนี้ จากคำถามเกี่ยวกับความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ FinTech ในไทย พบว่า ความท้าทายที่สำคัญซึ่งรอให้มีผู้ทำการศึกษาและเสนอวิธีแก้ไขเรียงจากมากที่สุดไปน้อยที่สุดเป็นดังนี้
70% ประเมินว่ากฎระเบียบภาครัฐที่ไม่เอื้อให้เกิดนวัตกรรม : เนื่องจากนวัตกรรมเป็นสิ่งที่สร้างยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง การที่ภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นโดยการเสนอสิทธิประโยชน์ที่จูงใจแก่ภาคเอกชนจะช่วยชดเชยความเสี่ยงและทำให้บริษัทต่างๆ มีความกล้าลงทุนในนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งภาครัฐควรเร่งปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า กฎระเบียบที่ใช้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
13% ประเมินว่าทรัพยากรบุคคลขาดทักษะด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น : ทักษะแรงงานที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสียโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และไม่สามารถดึงดูดผู้ลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาลงทุนได้
9% ประเมินว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัยไม่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ : เป็นเรื่องปกติที่นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จมักจะนำหน้าโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับตัวมันเอง ดังนั้น หลายครั้งเมื่อปริมาณผู้ใช้ FinTech รายใดรายหนึ่งมากเกินไปย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน และ FinTech เพียงรายเดียวอาจสร้างผลกระทบไปถึง FinTech อื่นหรือระบบโครงสร้างอื่นได้
9% ประเมินว่าขาดแคลนเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ : การศึกษาของธนาคารโลก พบว่า “ประเทศที่มีตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพนั้นยังเพิ่มโอกาสให้แก่ธุรกิจสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้อีกด้วย” โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs และ Startup เพราะต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมาก มีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลายกว่า ขณะที่บริษัทขนาดเล็กแม้จะมีไอเดียดีแต่มักมีเงินทุนเพื่อใช้ประกอบกิจการอย่างจำกัด ดังนั้น ตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพจึงมีหน้าที่ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกโดยมีต้นทุนลดลง
จากผลสำรวจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า มุมมองของทั้งกลุ่มสถาบันการเงินและสตาร์ทอัป FinTech นั้นค่อนข้างสอดคล้องกัน โดยมองว่าเทคโนโลยี AI จะมีบทบาทเข้ามาขับเคลื่อนการให้บริการโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มากที่สุด นอกจากนี้ ทั้งสองกลุ่มยังพยายามหาแนวทางในการทำงานร่วมกันมากกว่าที่จะมาแข่งขันกันโดยตรง เพราะเมื่อพิจารณาจากจุดแข็งระหว่างสถาบันการเงินและสตาร์ทอัป FinTech ที่มีความแตกต่างกันนั้น พบว่าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันจะสามารถเติมเต็มส่วนที่เป็นจุดด้อยของกันและกันได้ โดยที่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายจะทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน และป้อนข้อมูลลูกค้าให้แก่สตาร์ทอัป FinTech ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ