xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่" ลั่นหุ้นไทยเริ่มส่งสัญญาณ "หมีจำศีล" แนะนักลงทุนปรับกลยุทธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
"บิ๊กตู่" แนะนักลงทุนอย่าประมาท ประเมิน 3-4 ปีข้างหน้าหุ้นไทยอาจไม่ได้เป็นขาขึ้นเหมือนที่ผ่านมา แนะนักลงทุนพิจารณาความเสี่ยง และเลือกประเภทการลงทุนอย่างเหมาะสม

นางวรวรรณ ธาราภูมิ (ตู่) ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง เปิดเผยผ่านสื่อโซเชียลส่วนตัวถึงมุมมองแนวโน้มการลงทุนในขณะนี้ว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นขาขึ้นมายาวนาน อันเป็นผลจากการทำ QE และกดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำติดดิน และบางประเทศก็ติดลบ ทำให้ผู้ลงทุนโยกย้ายเงินจากเงินฝาก ตราสารหนี้ ไปยังหุ้น แล้วก็ประสบความสำเร็จสูงมาก ดังนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจึงมักจะกำหนดผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวในการลงทุนในหุ้นสำหรับแผนการเงินของเราเป็น 10%-12% ต่อปีโดยเฉลี่ย

แต่มองไปข้างหน้าสัก 3-4 ปี ตัวเลขผลตอบแทนคาดหวังนี้คงจะสูงเกินไป

มองไปข้างหน้าสำหรับปี 2562 เศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทย แม้จะยังขยายได้ แต่ก็จะขยายในอัตราที่ลดลง ปริมาณเงิน QE ที่เคยเข้ามาผลักดันราคาสินทรัพย์ทั่วโลกจนสูงขึ้นมายาวนานร่วม 10 ปี ก็กำลังถูกลดลงไปเรื่อยๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่างๆ เริ่มอยู่ในวงจรขาขึ้น ซ้ำเติมด้วยอีก 2 ปัจจัยหนักๆ คือ สงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากับจีนที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ตลอด Supply Chain กับผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามากวาดล้างโมเดลธุรกิจเดิมๆ ให้ล้มหายตายจากหากไม่ปรับตัวให้รองรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่ ‘เปี๊ยนไป๋’ เพราะเทคโนโลยี

ดังนั้น แม้เราจะยังลงทุนระยะยาว แต่แผนการลงทุนของเราก็ควรลดอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากหุ้นลงบ้าง และขยายระยะเวลาการลงทุน กับเพิ่มจำนวนเงินลงทุนแต่ละครั้งให้มากขึ้น เพื่อให้แผนการเงินยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายเดิมได้ในทางปฏิบัติ เช่น กำหนดผลตอบแทนคาดหวังในการลงทุนในหุ้นเมื่อมองจากตรงนี้ไปข้างหน้าสัก 3-4 ปี เป็น 7% ต่อปีโดยเฉลี่ย (บางปีอาจติดลบ บางปีอาจบวกมากกว่านั้น)

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ต้องลงทุนและมีวินัยในการออมอยู่เสมอ นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้เป้าหมายทางการเงินของเราบรรลุผล

ในการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวตามเป้าหมายทางการเงินนั้น เราต้องรู้ว่าเศรษฐกิจมีวงจรของมัน ไม่มีอะไรดีไปชั่วนิรันดร์ แต่ก็ไม่มีอะไรแย่ตลอดกาล

Stay invested through all market cycles หมายถึงเราต้องลงทุนไปตลอดในทุกช่วงวงจรเศรษฐกิจและการลงทุน โดยแสวงหาการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราในแต่ละวงจร

แต่การจะจัดการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนในสัดส่วนไหร่นั้น เราต้องดูเป้าหมายทางการเงินกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเป็นหลักด้วย คือเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของใครของมันโดยแท้จริง ... คนอายุเท่ากัน รายได้เท่ากัน ภาระทางการเงินเท่ากัน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องจัดพอร์ตให้เหมือนกัน เพราะ 2 ตัวแปรสำคัญก็คือ การยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนกับเป้าหมายทางการเงินของคนคนนั้นโดยเฉพาะ

อย่าหยุดลงทุน อย่าออกจากตลาด เพราะมันจะทำให้เป้าหมายทางการเงินของเราไม่บรรลุ แต่เราเลือกจัดสัดส่วนลงทุนให้เหมาะสมได้

อย่าลืมว่าตลาดหุ้นมีวงจร มีรอบของมัน การที่หุ้นจะขึ้นหรือลงจึงเป็นธรรมชาติของการลงทุน แต่เราก็ผ่านวิกฤตใหญ่ๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากบ้านเราเองและลุกลามไปยังประเทศอื่น หรือสึนามิที่กระทบการท่องเที่ยวและธุรกิจจำนวนมาก หรือการทำรัฐประหารรัฐบาล แถมด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับบ้านเราโดยตรงแต่ตลาดทุนที่เชื่อมโยงกันทำให้เราได้รับผลกระทบไปพร้อมๆ กับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ เรายังเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ที่เอาไม่อยู่ มีวิกฤตยูโรโซน มีระเบิดราชประสงค์ มี BREXIT และล่าสุด ก็มี Trade War จากลุงโดนัลด์ ทรัมป์

ตลาดหุ้นบ้านเราก็ได้รับผลกระทบมากมายจากเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แต่สุดท้ายตลาดหุ้นก็ยังไปได้ เพราะกิจการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ยังคงมีกำไร หุ้นยังคงจ่ายปันผล มากบ้างน้อยบ้าง หุ้นบางตัวดี บางตัวแย่ แต่ก็มีหลายกิจการที่เติบโตในช่วงวิกฤต 20 ปีที่ผ่านมาได้ เพราะแข็งแกร่งเพียงพอ และผู้บริหารมีกลยุทธ์ที่ดี นำพาบริษัทให้เติบโตได้ … อย่าลืมว่าการลงทุนในหุ้นก็คือลงทุนในกิจการของบริษัท ไม่ใช่ลงทุนในดัชนีตลาดฯ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าไปหวั่นไหวกับข่าวและปัจจัยต่างๆ ตราบที่เรายังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราลงทุนในระยะยาวนั้นดี และยังคงมีโอกาสส่งให้เราบรรลุเป้าหมายได้ เพราะการลงทุนเหมือนการวิ่งมาราธอน ใครวิ่งเข้าเป้าหมายได้ก็ชนะทุกคน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น นอกจากนี้ การลงทุนระยะยาวโดยไม่ออกไปจากสนามจะทำให้เราจะได้รับผลตอบแทนจาก power of compounding ซึ่งก็คืออิทธิพลของผลตอบแทนแบบทบต้นอีกด้วย

เราอาจจะไม่รู้ว่าจุดที่เราอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นอยู่ตรงไหนของวงจรตลาด และในทุกวิกฤตก็คือโอกาส ดังนั้น การที่เรายังคงลงทุนต่อไปก็ย่อมจะดีกว่า เราไม่รู้หรอกว่าจุดไหนคือจุดสูงที่สุดสำหรับการขาย และการจะกลับเข้าไปลงทุนก็เป็นเรื่องยากที่จะหาจังหวะจุดต่ำสุดเช่นกัน แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพลาดเพราะไปขายเมื่อมันลงมาแล้ว และเข้าไปซื้อเมื่อราคามันพุ่งถึงเพดาน ... คือผิด Step ตลอด

ตลอดเส้นทางลงทุนระยะยาวมักจะมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาด มากบ้าง น้อยบ้าง แต่เราก็ไม่ควรหวั่นไหว เพราะจะทำให้แผนระยะยาวที่วางไว้ผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้น จึงต้องลงทุนต่อไป

Jack Bogle ให้ลงทุนตลอด ไม่ถอน แม้จะเป็น Bear Market (ตลาดหมี) เพราะระหว่างทางของการลงทุนมันมีวงจรขาขึ้นและขาลง แต่ถ้าเรามองยาวๆ แล้วยังคงเห็นอนาคตในการลงทุนนั้นๆ ขาลงย่อมน้อยกว่าขาขึ้น

Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment บอกว่า นักลงทุนผู้ชาญฉลาดไม่จำเป็นต้องมีไอคิว หรือมีการศึกษาสูง แต่ต้องอดทน มีวินัยในการลงทุน ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ศึกษาทำความเข้าใจกิจการที่สนใจอย่างละเอียด มีความรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น และควบคุมอารมณ์ไม่ให้เหนือเหตุผลได้ดี เพราะในระยะสั้นราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของผู้เล่น ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง ราคาหุ้นก็จะขึ้นตามการ "ลงคะแนน" ของนักลงทุน แต่ในระยะยาวนั้นราคาหุ้นจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท ถ้ามีกำไรมากตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไร

Warren Buffet บอกให้เราเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่ เวลาจะซื้อหุ้นก็ให้ดูก่อนว่ามันเป็นกิจการที่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีอย่าซื้อ ถ้าดีก็ต้องดูว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเหมาะสมหรือไม่ ถ้าแพงอย่าซื้อ ถ้าถูกค่อยซื้อ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เก็บหุ้นไว้ไม่ต้องคิดว่าจะขาย แม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือตก ให้ขายต่อเมื่อกิจการเริ่มไม่ดีแล้ว และให้เรากลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และให้เราโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว เพราะในช่วงที่ตลาดดีมาก การกลัวเมื่อคนอื่นโลภจะช่วยให้เรารอดจากหายนะได้ แต่ในยามวิกฤตที่ทุกคนกลัวและถอนตัวออกจากตลาด มันก็ยากมากที่เราจะรู้สึกโลภ

Peter Lynch บอกว่า ไม่ต้องไปสนใจการขึ้นลงของตลาด ให้ใช้เหตุผลในการซื้อขายเท่านั้น เพราะราคาหุ้นกับกำไรจะไปด้วยกันเสมอในระยะยาว และหากราคาหุ้นแยกออกไปจากกำไร ไม่ช้ามันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไร อย่ากลัวเวลาราคาหุ้นตกหากกำไรของบริษัทยังดีอยู่ ยิ่งหุ้นลงยิ่งเป็นโอกาสซื้อ เพราะไม่ช้าราคาหุ้นจะวิ่งกลับมาตามกำไร และถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาหาเส้นกำไร

อ่านจากกูรูการลงทุนข้างต้นแล้ว คงจะเตือนใจเราได้ว่า ปัญหาที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้คือ อารมณ์หวาดกลัวของเราในช่วงขาลง เพราะในช่วงนั้นเราก็จะกลัวไปหมด ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นจะมีกิจการดีๆ ที่น่าลงทุนในราคาตลาดที่ตกต่ำ และนั่นคือโอกาสที่นานๆ ครั้งจะมี

การที่ตลาดปรับขึ้นหรือลงล้วนเป็นธรรมชาติของการลงทุน จากประสบการณ์แล้วไม่แนะนำการลงทุนในลักษณะเข้าๆ ออกๆ จากตลาด เพราะการหาจังหวะที่ดีที่สุดในการขายออกเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด หรือเข้าซื้อในราคาต่ำที่สุดเป็นเรื่องยากที่สุด ซึ่งนักลงทุนมักจะขายออกเมื่อราคาลงไปมากแล้ว และมักจะซื้อไม่ทันในช่วงราคาต่ำ เพราะตลาดมักจะเล่นกับเราทีเผลอเสมอ ซึ่งถ้าเราควบคุมสติได้ก็จะช่วยไม่ให้เหตุการณ์แตกตื่นต่างๆ มาไล่เราออกจากลู่วิ่ง ทำให้เราหลุดไปจากวงจรที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย

เพื่อให้เป้าหมายทางการเงินบรรลุผล เราจึงควรลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงใดของวงจรการลงทุนก็ตาม และให้มุ่งไปที่เป้าหมายทางการเงินระยะยาวของเราเองที่มีการกำหนดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมกับเราไว้แล้ว พร้อมทั้งต้องควบคุมสติไม่ให้ถูกครอบงำโดยข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ

ถ้าเราควบคุมไม่ได้ บริหารอารมณ์ไม่ได้ โลภ กลัว อคติ จะทำให้ขาดเหตุผล แล้วปัจจัยในช่วงสั้นก็จะมาทำให้ไขว้เขว เกิดสัญชาตญาณฝูงสัตว์ คือแห่ทำตามกันด้วยอารมณ์ล้วนๆ แล้วก็อย่าลืมปรับอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากหุ้นใน 3-4 ปีข้างหน้าลงมาด้วย
Investment Clock จาก ASX
Economic Cycle จาก Barry Ritholtz


กำลังโหลดความคิดเห็น