ผู้ว่าฯ ธปท. มอง ศก.ไทยปี 62 ยังโตดี แม้ชะลอจากปีนี้ เนื่องจากปัจจัยในประเทศยังแข็งแกร่ง ระบุ การขึ้น ดบ.นโยบาย หวังผลดีต่อการออม
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดที่ปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่เติบโต 4.2% และปี 62 อยู่ที่ 4.0% เนื่องจากประเมินว่าในปีหน้ามีปัจจัยที่ไม่แน่นอน และเป็นความเสี่ยงหลายด้านต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศ ได้แก่ 1.ปัจจัยจากผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิด และต้องพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะ จึงจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจน แต่มองว่ายังมีทั้งผลบวกและลบต่อประเทศไทย
2.ปัจจัยจากเศรษฐกิจประเทศจีน นอกจากจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ยังมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายด้านภายในประเทศ และที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนพึ่งพิงหนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหนี้ภาคธุรกิจ ดังนั้น เมื่อภาวะการเงินเริ่มตึงตัวมากขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการ rollover ของภาคธุรกิจจีน และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนได้
3.ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง เช่น กรณีการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit), ปัญหาในตะวันออกกลางที่กระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในยุโรปที่มีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีหน้าที่ ธปท. จะต้องติดตาม
“ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ สาเหตุที่เราคิดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ใกล้ 4% จึงเป็นระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของปัจจัยในประเทศ การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง การจ้างงาน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง มีการนำเข้าสินค้าทุน การขอรับส่งเสริมจากคณะกรรมการสงเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้านเรามีการลงทุนโครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 62 และจะทำให้เอกชนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา การลงทุนเรามีปัญหามาหลายปี ถ้าจุดเครื่องยนต์ตัวนี้ติด ก็จะมีผลค่อนข้างมากต่อการขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าก็เริ่มขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่งไทยก็ได้รับผลบวกด้วย เหล่านี้ เราจึงมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงบ้างจากปี 61” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
นอกจากนี้ กนง. มองว่า กันชนด้านต่างประเทศของไทยยังค่อนข้างดี ถ้าเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่ค่อนข้างเปราะบาง เมื่อตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความหวั่นไหว ก็จะได้รับผลกระทบง่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลายประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และขึ้นในระดับที่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออก ขณะที่ไทยเองที่ผ่านมา ได้พยายามสร้างกันชนด้านต่างประเทศไว้อย่างมีเสถียรภาพ จึงสามารถรับแรงปะทะจากภายนอกได้ดีในระดับหนึ่ง
“แต่เราจะต้องไม่ชะล่าใจ เพราะหลักสำคัญในโลกที่มีความผันผวนสูง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการไม่ชะล่าใจ และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ไปพร้อมๆ กับการลดจุดเปราะบางต่างๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางการเงิน การรับความเสี่ยงที่อาจจะสูงเกินควร เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ ธปท. เพิ่งออกมาตรการมาดูแล เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงในอนาคต” นายวิรไท กล่าว
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งจะทำให้เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยแก่ประชาชนนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ไปสู่ 1.75% ถือว่าเป็นการเริ่มปรับขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมาก
การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใกล้กับการเติบโตที่เต็มศักยภาพมากขึ้น ความจำเป็นที่ต้องทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ จึงลดลง เพราะการทำนโยบายทุกอย่างมีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวัง การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ส่งผลให้เกิดความเปราะบางในเสถียรภาพระบบการเงิน และการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง
“การที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มทยอยปรับสูงขึ้น แม้จะปรับสูงขึ้นนิดเดียว อาจทำให้เกิดความกังวลว่า ภาระหนี้ภาคประชาชนสูงขึ้นหรือไม่นั้น เราได้ประเมินสินเชื่อที่ภาคประชาชนกู้เงินแล้ว คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบมาก หรืออาจไม่ได้รับผลกระทบเลยด้วยซ้ำ เพราะเรามาจากภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีสูงมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะไปปรับขึ้นดอกเบี้ยที่คิดกับประชาชน พวกดอกเบี้ย MLR, MOR, MRR จะเห็นว่าไม่มีการปรับ ซึ่งหลายแบงก์จะออกมาพูดว่าไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับ ในภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินมีสูงมาก ประกอบกับมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้สร้างภาระให้ประชาชนต้องผ่อนมากขึ้น และถ้าดูสินเชื่อที่ประชาชนไปกู้ เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 3 ปีแรก ถ้าอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่ได้ปรับ ก็จะไม่สร้างภาระให้เพิ่มมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว
พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายอย่างได้คิดตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต, อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ภาคประชาชนไม่ได้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม การทำนโยบายการเงิน จะต้องดูแลในฝั่งผู้ออมด้วย เพราะหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ออมได้รับผลตอบแทนการออมที่ต่ำมาก ในสภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การออมจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และต้องสร้างฐานการออมในประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก
“เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น สิ่งแรก คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเริ่มปรับขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น การออมผ่านกองทุนตราสารหนี้ กองทุนระยะสั้น ผู้ออมเงินจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นทันที นี่คือข้อดีของผู้ออม ขณะเดียวกัน จะเห็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคประชาชนที่เป็นผู้ออมเงิน เราต้องดูแลทั้งสองด้าน การปรับขึ้น (ดอกเบี้ยนโยบาย) เราไม่คิดว่าจะมีผลกระทบกับประชาชนผู้กู้เงิน แต่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ฝากเงินมากกว่า” ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
นายวิรไท ย้ำว่า ในการตัดสินนโยบายการเงินทุกครั้ง กนง. จะยึดหลักการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างละเอียด ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกครั้งที่จะมีการประชุม กนง. ในรอบต่อๆ ไป เนื่องจากสภาวะในขณะนี้ต่างจากรอบก่อนๆ ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะรอบก่อนๆ เป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีเหตุผลและความจำเป็นจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น แต่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศและอาจอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้น การที่ กนง. ใช้ในการตัดสินนโยบายการเงิน คือ ต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มต่างๆ อย่างละเอียดทุกครั้ง และใช้การตัดสินใจแบบ data dependent เป็นสำคัญ
“ทุกนโยบายมีต้นทุน มีข้อดี ข้อเสีย การทำนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์ต่างๆ ชั่งน้ำหนักผลระยะสั้น ระยะยาวด้วย หน้าที่หนึ่งของ ธปท. คือ รักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองระยะยาว มองข้ามวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ” นายวิรไท กล่าว
พร้อมระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 1.25% ซึ่งช่วงนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยติดลบ แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจากเกิดปัญหาการเมืองในประเทศ ไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศ จึงทำให้ไม่มีงบประมาณ ส่งผลให้มาตรการทางการคลังหยุดชะงัก กนง. ขณะนั้น มองว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงสั้น จึงตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศในขณะนั้นอยู่ที่เพียง 0.8%
“ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก นโยบายอื่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะมีปัญหาทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ตอนนี้ GDP ขยายตัวได้ใกล้ 4% ในปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะได้ 4.2% ปีหน้าคิดว่าอยู่ประมาณ 4% อาจบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังขยายตัวในระดับใกล้ศักยภาพ ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่ควรกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่จะสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว