xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.-นักวิเคราะห์ มองภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จับตาปีหน้าเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธปท.-นักวิเคราะห์ มองภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จับตาปีหน้าเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน โดยยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจจะทวีความรุนแรงมากกว่าในปีนี้, เศรษฐกิจจีนเกิดปัญหา, ความผันผวนจากตลาดการเงินโลกที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และประเทศตลาดเกิดใหม่ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคธุรกิจ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจปี 62” โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดสูงสุดของการขยายตัวไปแล้ว และในปีหน้ายังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจจะทวีความรุนแรงมากกว่าในปีนี้, เศรษฐกิจจีนเกิดปัญหา, ความผันผวนจากตลาดการเงินโลก ที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และประเทศตลาดเกิดใหม่, ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

“เศรษฐกิจในเรื่องการขยายตัวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่ 4.9% ในไตรมาสแรกปีนี้ และคงจะไม่เห็นอีกแล้ว เพราะปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนกว่าปีนี้ ทั้งเรื่อง Brexit, สงครามการค้า” นายดอน ระบุ

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปีหน้า ลงจากเดิม โดยปี 61 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.2% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 4.4% ขณะที่ปี 62 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.0% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 4.2% นั้น มองได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังถือว่าไปได้ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยได้แรงจากภายในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ 1.การบริโภคภาคเอกชน เช่น ยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ยังเติบโตได้ดี 2.การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนโครงการต่างๆ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3.แนวโน้มปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มกลับมา และจะกลับมาเต็มที่ในปีหน้า 4.เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังเข้มแข็งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง 5.ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังเป็นใจ ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจได้ และ 6.อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากในรอบนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ขยายตัวได้ 4% ยังถือว่าเติบโตในระดับที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่สูงเมื่อเทียบกับการเติบโตในระดับ 3% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่า การตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของ ธปท. จำเป็นจะต้องติดตามความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

“ที่ กนง. มองจีดีพีปีหน้าไว้ที่ 4% นั้น เป็นค่ากลางที่เรามองไว้ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโตน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ก็ได้” นายดอน ระบุ

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 62 นายดอน ยอมรับว่า คงคาดเดายาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อีกทั้งเห็นว่า แม้ กนง. จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว ไม่ได้หมายความว่า รอบหน้าจะต้องปรับขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โดยเงื่อนไขที่ กนง. ใช้พิจารณาตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยมาจาก 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง. มองว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังสามารถรองรับต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งได้ 2.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน แต่คาดว่า ปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมานาน จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งในจุดนี้เป็นสิ่งที่ กนง. มีความกังวล และ 4.การมีช่องว่างสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าในอีก 1-2 ปีหน้า อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวของนายดอน มองว่า ในปีหน้า กนง. คงมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บล. ภัทร ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 จะอยู่ที่ 3.7% จากปี 61 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.2-4.3% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดของเศรษฐกิจไทย และน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตช้าลงจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, การเปลี่ยนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มาสู่มาตรการเข้มงวดทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative tightening หรือ QT) ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ทั้งนี้ ในปีหน้าปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังมาจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และยอดขายรถยนต์ โดยต้องจับตาดูใน 3 เรื่อง คือ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง อาจส่งผลกระทบกับการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของ GDP และจับตาดูรายได้ภาคการเกษตรว่า การบริโภคภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ ขณะที่มองหนี้ภาคครัวเรือนถือว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ การที่จะยืมเงินในอนาคตมาใช้ อาจเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงการเมืองในปีหน้า ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 โดยให้จับตาดูว่า เมื่อมีการเลือกตั้งไปแล้ว การดำเนินนโยบายต่างๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาพของการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 มองตลาดฯ น่าจะยังมีความผันผวน จากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังคงกดดัน ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และราคาน้ำมันดิบที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น แนะนำนักลงทุน Wait &see ไปก่อน โดยได้ประเมินกรอบดัชนีในปีหน้า ให้กรอบแนวต้านที่ 1,680 จุด และแนวรับ 1,450 จุด บนสมมติฐานกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่ 4%

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 1.75% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นายพิพัฒน์ มองว่า เป็นการปรับขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว ไม่ได้ต้องการเบรกเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอดูกันต่อว่า ทางธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นตามหรือไม่ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นตาม ก็จะส่งผลกระทบกับผู้กู้ ที่ต้นทุนสูงขึ้น แต่หากไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้นทุนทางการเงินขึ้น ก็จะกระทบกับธนาคารพาณิชย์เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น