ทีเอ็มบี ออกพันธบัตรเอสเอ็มอี มูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมี บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย หนุนเอสเอ็มอีไทยโตยั่งยืน
น.ส.ชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ธนาคารได้ออกพันธบัตรมูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมีบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งจากการออกพันธบัตรดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารนำเสนอสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าถึงสินเชื่อได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก ที่มียอดขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น TMB SME One Bank ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลักดันการให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่า การดำเนินการดังกล่าวนี้จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวมต่อไป
“ปกติธนาคารก็ให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่เมื่อมีวงเงินจากพันธบัตรดังกล่าว ซึ่งมีอายุ 7 ปีเข้ามา ก็ช่วยสนับสนุนให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี ประมาณ 90,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อใหม่ประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ยอดคงค้างสินเชื่อน่าจะทรงตัว”
นายวิกราม กุมาร์ ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศประจำประเทศพม่าและไทย กล่าวว่า ไอเอฟซี ถือว่าเป็นภารกิจหลักที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นแรงผลักดันที่สร้างการเติบโต สร้างงาน และเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ดังนั้น พันธบัตรเอสเอ็มอีชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการรับมือต่อความท้าทายที่ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต้องเผชิญอยู่ อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาโซลูชันของสถาบันการเงินเอกชน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของเอสเอ็มอีในประเทศอีกด้วย
“ไอเอฟซี และทีเอ็มบี ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2555 ในโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และในเวลาต่อมา ไอเอฟซี ได้ให้การสนับสนุนทีเอ็มบี ในการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านโครงการการค้ำประกันความเสี่ยง (Risk-sharing Facility) สำหรับในปี 2561 นี้ ไอเอฟซี ยังได้ลงทุนใน TMB Green Bond ซึ่งเป็นพันธบัตรสีเขียวชุดแรกที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทยอีกด้วย”
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วน 95% ของธุรกิจในประเทศไทย และมีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด แต่ 83% ของเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ล้านราย ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้า และเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และจ้างงานเพิ่มได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจของเอ็นเตอร์ไพรส์เซอร์เวย์ พบว่า เอสเอ็มอีไทยยังมีช่องว่างด้านเงินทุนโดยรวมกว่า 41 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคแล้วยังพบว่า เอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อสูงกว่าไทย คือ 28% ขณะที่ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีทั่วโลกอยู่ที่ 35%