ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - “โอสถสภา” ยังต้องลุ้นเหนื่อย! หลังราคาหุ้นวนเวียนอยู่แถวราคา IPO 25 บาทต่อหุ้น หลายฝ่ายมองเต็มมูลค่าปีนี้ไปแล้วส่อลากยาวถึงปีหน้า รอลุ้นแผนธุรกิจช่วยพลิกฟื้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ด้านโบรกฯ มั่นใจปี 2563 สดใสแผนธุรกิจที่ลงทุนเริ่มให้ผลตอบแทนโดดเด่น
ผ่านมาแล้ว 1 เดือนกว่า สำหรับหุ้น IPO ขนาดใหญ่ประจำปี 2561 อย่าง บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซึ่งมีมูลค่ามาร์เกตแคปกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท โดยเข้าซื้อขายวันแรกบนกระดานหุ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2561 ผลตอบรับเปรี้ยงป้าง ปิดตลาดวันแรกที่ 27.25 บาท/หุ้น จากราคา IPO ที่ระดับ 25.00 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.25 บาทต่อหุ้น หรือ 9%
แต่หลังจากนั้น OSP เหมือนเจอมรสุมโหมกระหน่ำ ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนต่ำกว่าราคาจองซื้อ 25.00 บาทต่อหุ้น จนเกือบปลาย พ.ย. ราคาถึงสามารถกลับมาที่ระดับต้นทุนได้ ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มทำการซื้อขายนักลงทุนจำนวนมากแสดงความปรารถนาอยากได้สิทธิจองซื้อ OSP ในราคา IPO สวนทางกับจำนวนหุ้นที่เจ้าของบริษัทที่กระจายสัดส่วนมาให้นั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนมีการกล่าวติดตลกในห้องค้าว่า “วันนี้คุณก็เป็นเจ้าของ OSPในราคา IPO ได้ หรืออาจถูกกว่า”
สิ่งที่น่าสนใจจากเรื่องดังกล่าว คือ นักลงทุนหลายคนพุ่งเป้าไปที่การตั้งราคา IPO ของ “โอสถสภา” ว่า ราคาที่ตั้งมาเสนอขายนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่า ราคาที่เสนอขายนั้น มันเต็มมูลค่า หรือแพงเกินไป มองไม่เห็นส่วนต่างหรือโอกาสในการทำกำไร
โดยในเรื่องนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอย่าง บล. บัวหลวง เคยออกมายืนยันว่า ราคาที่ตั้งขายเป็นราคาที่เหมาะสมเพราะกำหนดโดยความต้องการของนักลงทุนสถาบัน และกองทุน ผ่านการสำรวจราคา (บุ๊คบิว) ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวลงนั้น เชื่อว่าเป็นไปตามแรงขายส่วนหนึ่ง ซึ่งมาจากภาวะตลาดหุ้นโดยรวมไม่ดี ทำให้นักลงทุนจึงขายหุ้นทำกำไรออกไปถือเงินสดแทน
ขณะเดียวกัน อีกประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญไม่แพ้การตั้งราคาเสนอขายหุ้นที่สูง นั่นคือการขายหุ้นส่วนตัวในวันแรกของ “นิติ โอสถานุเคราะห์” ที่ขายไปจำนวน 135.17 ล้านหุ้น ที่ราคาจอง 25.00 บาท/หุ้น รวมมูลค่า 3.37 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ขาย 4.5% และเหลือการถือหุ้นใน OSP 16.28%
ทั้งนี้ เพราะนักลงทุนบางส่วนมองว่า การนำหุ้นที่ถืออยู่ออกมาขายเป็นจำนวนที่สูงเกินไป บวกกับราคาหุ้นประเดิมเทรดที่หลายคนมองว่าเต็มมูลค่า ก็เหมือนซัปพลายที่มีมากกว่าดีมานด์ จึงเป็นอีกสาเหตุที่กดดันให้ราคาหุ้น OSP ปรับตัวลดลง แม้ที่ปรึกษาฯ จะยืนยันว่า การปล่อยขายหุ้น OSP ของผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุผลที่กดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง อีกทั้งพื้นฐานบริษัทไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ล่าสุด OSP รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) มีกำไรสุทธิได้ 771.90 ล้านบาท ลดลง 12.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 886.40 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 16.80% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 661.1 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง และงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2.21 พันล้านบาท ลดลง 15.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.62 พันล้านบาท
เรื่องดังกล่าว ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อทิศทางธุรกิจของกลุ่ม OSP หลายคนเริ่มสงสัยว่าสินค้าของบริษัทถึงจุดอิ่มตัวไปแล้วหรือไม่ หลังจากที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตน้อยกว่าคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน นั่นทำให้เริ่มเกิดความหวั่นวิตกต่อแผนการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศของบริษัทจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
แต่ OSP ยังมีสิ่งที่น่าชื่นชม นั่นคือ การเดินหน้ายืนยันศักยภาพทางธุรกิจ และการฉายภาพให้เห็นแนวโน้มการเติบโตด้านผลดำเนินงานของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การเตรียมรับรู้กำไรจากการตัดขายหุ้น บริษัท ไว้ท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ WG จำนวน 8.88 ล้านหุ้น หรือ 49.76% มูลค่า 1.59 พันล้านบาทให้แก่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และจากดีลดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า OSP จะสามารถบันทึกกำไรพิเศษกว่า 300 ล้านบาท จากการขายหุ้น WG ในไตรมาส 4/61 ยิ่งทำให้ผลดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” ที่ทยอยเข้าสะสมหุ้น OSP อย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา (28 พ.ย.) คิดเป็น 5.01% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ถือเป็นอีกแรงกระตุ้นต่อหุ้น OSP ให้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน OSP ยังได้รับแรงสนับสนุนเสริมจากรายชื่อผู้เข้าซื้อหุ้น IPO ที่มีการเปิดเผยจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนที่มีชื่อเสียง อาทิ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จำนวน 2.07 ล้านหุ้น เป็นเงิน 51.84 ล้านบาท , “ปริญญ์ จิราธิวัฒน์” จำนวน 9.7 แสนหุ้น หรือ 24.25 ล้านบาท ,“สุวิน ไกรภูเบศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) จำนวน 6 แสนหุ้น เป็นเงิน 15 ล้านบาท, “ อภิญญา ปราสาททองโอสถ” จำนวน 5.2 แสนหุ้น หรือ 13.12 ล้านบาท และ “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน 4.5 แสนหุ้น เป็นเงิน 11.25 ล้านบาท
ตามติดด้วยการประกาศแผนลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจในเมียนมาร์ ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมติละวา เพื่อรองรับการเติบโต และสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวพม่า โดยนับเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของ OSP และเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทฯ ตามเป้าหมายในการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในตลาดหลัก ได้แก่ พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง มูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 2.4 พันล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็นการปูเรื่องราวแนวโน้มธุรกิจที่ชวนให้น่าติดตาม เพราะช่วยฉายให้เห็นถึงศักยภาพ และความแข็งแกร่งของบริษัทที่ดำเนินกิจการกว่า 127 ปีแห่งนี้ ยังมีอนาคตที่สดใสรออยู่
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในแวดวงการลงทุนรายหนึ่ง แสดงความเห็นถึงทิศทางธุรกิจของ OSP ว่า ธุรกิจของบริษัทในหลายสินค้าอยู่ในตลาดที่อิ่มตัว หรือมีอัตราการเติบโตที่น้อย ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารของ OSP ต้องแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้
“แค่ลดต้นทุนขวดแก้ว การตลาดที่เน้นไปทางกีฬา หรือทางดนตรี สำหรับเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ตอนนี้มันดูไม่เพียงพอที่จะผลักดันการเติบโตได้ สินค้าประเภทอื่นๆหลายชนิดของบริษัทก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ หากต้องการให้ผลดำเนินออกมาโดดเด่นและน่าสนใจ”
นอกจากนี้ การขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องดังกล่าวมีความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประเภทเครื่องดื่มที่ขยายตลาดไปต่างประเทศมักประสบปัญหาไม่เป็นไปตามแผนธุรกิจที่คาดการณ์ไว้ หากจะให้เรื่องดังกล่าวเป็นตัวผลักดันให้หุ้น OSP ดูน่าสนใจ มองว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ อาทิ ครึ่งปี-1 ปี เพื่อรอดูผลตอบรับจากผู้บริโภคนอกประเทศ
“ตลาดในประเทศมองว่าถึงจุดอิ่มตัวแล้ว การขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ OSP นั่นคือการเติบโตของผลดำเนินงานในปีนี้กับปีที่ผ่านมาท้ายที่สุดจะมากหรือน้อยกว่ากันเพียงใด และอนาคตหลังลุยตลาดต่างประเทศแล้ว จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นแค่ไหน ราคาหุ้นในปัจจุบันของ OSP มองว่าเต็มมูลค่าในปีนี้ไปแล้ว รวมถึงในปีหน้า จึงเป็นเหตุให้ยังไม่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนในตอนนี้ ดังนั้นคงต้องรอช่วงครึ่งปีแรก2562 หรือสิ้นปี2562 หากแผนธุรกิจเป็นไปตามที่ผู้บริหารวางเอาไว้ราคาหุ้นน่าจะขยับตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้”
ขณะที่ บทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ให้แนวโน้นธุรกิจของ OSP ว่าเริ่มให้คำแนะนำ "ซื้อ" หุ้น OSP ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2562 ประเมินด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) ที่ 30.00 บาท/หุ้น (สมมติฐาน WACC อยู่ที่ 7.7% และ terminal growth rate อยู่ที่ 2.0%) เพราะชื่นชอบ OSP จากจุดแข็งของบริษัทที่มีความมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยกอปรกับเป็นผู้ผลิตสินค้าแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำ โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรหลักมีความมั่นคงในปี 2561-62 และน่าตื่นเต้นในปี 2563 โดยมูลค่าหุ้นอยู่ในระดับไม่แพง ซื้อขายที่ P/E ปี 2562 เท่ากับ 22 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มทั่วโลกที่ 25.2 เท่า
ทั้งนี้ OSP จะรายงานการเติบโตกำไรหลักที่แข็งแกร่ง YoY ต่อเนื่องในไตรมาส 4/61-2/62 เนื่องจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 4/60-2/61 (มีการปิดปรับปรุงโรงหลอมแก้วในไตรมาส 4/60 และเริ่มเปิดใช้งานอีกครั้งในปลายไตรมาส 2/61) การกลับมาเติบโตของยอดขายธุรกิจรับผลิตสินค้า (OEM), อุปสงค์ในช่วงไฮซีซันในไตรมาสที่ 4 และ 1 และอานิสงค์จากต้นทุนที่ลดลงจากราคาเศษแก้วที่ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ (ลดลงจากจุดสูงสุด 3.7 บาทต่อกิโลกรัมในไตรมาส 4/60 มาอยู่ที่ 2.6 บาท ในไตรมาส 3/61 ลดลง 21% YoY และ 16% QoQ)
ขณะเดียวกัน อัตรากำไรหลักได้พิสูจน์แล้วว่ามีแนวโน้มขาขึ้นหลังจากปรับโครงสร้างบริษัทสำเร็จ, เติบโตแบบก้าวกระโดดจากเพียง 6.6% ในปี 2558 เป็น 8.0% ในปี 2559 เป็น 11.0% ในปี 2560 และมาอยู่ที่ 11.8% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 จึงประมาณการว่า กำไรหลักของบริษัทจะเติบโตระดับปานกลางที่ 11% สำหรับปี 2562 (การเติบโตของยอดขายอยู่ที่ 5% กอปรกับการปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรหลัก 70bps) กลยุทธ์ที่จะรักษาความเป็นผู้นำแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย, ยกระดับมูลค่าสินค้า (การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า) และการเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยบริษัทการวางแผนกลยุทธ์ครอบคลุม 4 ประเด็น -“การเปิดตัวสินค้าใหม่”, “การพัฒนาสินค้าที่มีอยู่”, “ความพรีเมียม” และ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ”
โดยกลยุทธ์ข้างต้นทั้งหมดมีปัจจัยความสำเร็จหลักคือทีมผู้บริหารที่โดดเด่น (ที่มีประสบการณ์ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภคประเภท consumer staple, มีประสบการณ์จากบริษัทชั้นนำต่างชาติ), และทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศที่แข็งแกร่งมาอย่างยาวนาน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปี 2563 เพราะ OSP จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในพม่า (รายได้จากการขายที่คิดเป็น 11% ของยอดขายรวมของ OSP) จากปัจจุบัน คือ การจัดจำหน่าย (ร่วมทุนและถือหุ้น 49% โดยมีพันธมิตร คือ บริษัท Loi Heng Co Ltd ตั้งแต่ปี 2540) เป็นโมเดลการผลิตสินค้าเอง (ถือหุ้น 85% โดย OSP และ 15% โดยบริษัท Loi Heng) เพื่อสร้างและดำเนินโรงงานผลิตแห่งใหม่ในพม่าในไตรมาส 4/62 ซึ่งคาดว่าจะหนุนอัตรากำไรขั้นต้น และกำไรหลัก ขยายตัวหนุนให้กำไรหลักปี 2563 สามารถเติบโตแบบน่าตื่นเต้นขึ้นได้ที่ 15%
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสสร้างความประหลาดใจเชิงบวกต่อประมาณการได้หากบริษัทเพิ่มยอดขายในพม่าอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และเพิ่มกิจกรรมทางการตลาดในพม่าในอนาคต