แม้ว่า หุ้นบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB เจ้าของโรงเรียนนานาชาติจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย แต่อนาคตหุ้นสถาบันการศึกษาตัวแรกของตลาดหุ้นไทยยังไม่แน่นอน เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า จะดำรงความเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ตลอดไป หรืออาจต้องถูกเพิกถอน
กระแสต่อต้านการนำสถาบันการศึกษาระดมทุนในตลาดหุ้น ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวนนโยบาย ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปล่อยให้ SISB นำหุ้นเข้ามาซื้อขาย
ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ขอให้ระงับการซื้อขายหุ้น SISB ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ และนำไปสู่ความคาดหมายว่า อาจมีการขึ้นเครื่องหมาย เอสพี พักการซื้อขายหุ้น SISB เป็นการชั่วคราว
การซื้อขายหุ้น SISB ในวันแรก (29พ.ย.) ไม่สดใสนัก เพราะถูกผลกระทบจากกระแสต่อต้านที่ขยายวง ราคาเสนอขายประชาชนทั่วไปหุ้นละ 5.20 บาท และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการตั้งราคาที่แพงเกินไปนั้น
ได้รับการพิสูจน์ว่า "แพงจริง" เพราะตั้งแต่เปิดการซื้อขาย ราคาทรุดต่ำกว่าจอง ก่อนปิดการซื้อขายที่ 4.36 บาท/หุ้น ต่ำกว่าราคาจอง 0.84 บาท หรือต่ำกว่าจอง 16.14 %
นักลงทุนที่จองซื้อไว้ ได้รับความเสียหายถ้วนหน้า รวมทั้งผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนนานาชาติเอสไอเอสบีด้วย เพราะได้มีการจัดสรรโควตาหุ้นให้ผู้ปกครอง รายละ 25,000 หุ้น ใครจองซื้อไว้ ขาดทุนรายละประมาณ 4 หมื่นบาท
ปัญหาที่สังคมกังวลอยู่คือ ผลกระทบจากการปล่อยให้หุ้นสถาบันการศึกษาเข้าตลาดหุ้น เพราะโรงเรียนจะแปรสภาพเป็นธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด การตระหนักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอาจถูกลดความสำคัญลง
ความจริงปฏิกิริยาต่อต้านการนำสถาบันการศึกษาเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่มีข่าวว่า SISB ได้ยื่นไฟลิ่งหรือยื่นแบบข้อมูลเสนอขอกระจายหุ้นสู่ประชาชนทั่วไปแล้ว
แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ยอมทบทวนการพิจารณาอนุมัติการกระจายหุ้นและรับเข้าจดทะเบียน
ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามรับหุ้นสถาบันการศึกษาซื้อขายในตลาดหุ้น แต่เป็นที่เข้าใจกันมานับสิบปีว่า ตลาดหลักทรัพย์จะไม่รับสถาบันการศึกษา และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียน หลังจากโรงเรียนเซนต์จอห์นและบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้างของกลุ่ม นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถูกปฏิเสธเข้าระดมทุน
คำถามคือ SISB เข้าตลาดหุ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนผลักดัน
เบื้องหลังการเข้าตลาดหุ้นของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เกิดจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นตัวตั้งตัวตี ชักชวนให้นำหุ้นเข้ามาซื้อขาย
นโยบายการอัดฉีดตลาดหุ้นให้เติบโตในเชิงปริมาณ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องดิ้นรนขวนขวายเพิ่มบริษัทจดทะเบียนใหม่ เพื่อต่อยอดมูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคป
โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ติดต่อเจรจาทาบทาม แนะช่องทางเข้าจดทะเบียนโดยเฉพาะ ไม่สนใจว่าจะทำธุรกิจอะไร แนวโน้มการเติบโตมั่นคงหรือไม่ และจะแต่งตัว แต่งงบการเงิน “ตบตา” คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์หรือไม่
ปีนี้มีหุ้นใหม่เข้ามาซื้อขายรวมแล้ว 16 บริษัท ซึ่งกว่า 10 บริษัทราคาต่ำกว่าราคาหุ้นที่เสนอขายประชาชน สร้างความเสียหายให้นักลงทุนที่จองซื้อไว้ แต่ไม่มีผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์คนใด ออกมาพูดถึงความเสียหายที่นักลงทุนได้รับจากหุ้นที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาอนุมัติรับเขามา
มีแต่เปิดแชมเปญฉลองความสำเร็จหุ้นใหม่ที่เข้ามาสูบเงินในตลาดหุ้น เช่นเดียวกับหุ้น SISB ที่ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์จัดพิธีต้อนรับอย่างเริงร่า แต่นักลงทุนน้ำตาตกใน
การเข้าตลาดหุ้น จะโทษเป็นความผิดของ SISB ไม่ได้ เพราะกิจการส่วนใหญ่ต้องการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว จะโทษบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่นำหุ้นสถาบันการศึกษาเข้าจดทะเบียนก็ไม่ได้อีก เพราะเป็นการทำงานตามวิชาชีพ
ถ้าจะโทษต้องโทษ ก.ล.ต. ที่อนุมัติการเสนอขายหุ้น และโทษตลาดหลักทรัพย์ที่มีนโยบายเติบโตในเชิงปริมาณ คิดอยู่ในกรอบโลกทุนนิยม จนขาดความตระหนักในผลกระทบทางสังคม
กระแสต่อต้านการนำหุ้นสถาบันการศึกษาเข้าตลาดหุ้นกำลังลุกลาม และคงไม่หยุดง่ายๆ คำถามคือ รัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร กับสถาบันการศึกษาที่ระดมทุนในตลาดหุ้น จะปล่อยเลยตามเลยหรือห้ามสถาบันการศึกษาเข้าจดทะเบียน
เพราะสถาบันการศึกษาอีกนับสิบนับร้อย เตรียมแห่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นตามรอย SISB
ถ้าไม่รับหุ้นสถาบันการศึกษาเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำอย่างไร SISB ซื้อหุ้นคืนแล้วเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นได้ไหม แต่ใครจะเป็นเข้าภาพซื้อหุ้นคืนล่ะ
ปัญหาวุ่น ๆ ของหุ้น SISB เกิดขึ้นเพราะแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มุ่งการเติบโตเชิงปริมาณ รับหุ้นใหม่ไม่อั้น
ถ้ายังไม่เลิกฝังหัวกับการสร้างภาพเติบโตในเชิงปริมาณ จะมีหุ้น IPO เน่า ๆ หลุดเข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
และมีกิจการที่ต้องตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม หลุดเข้ามาในระบบทุนนิยม และมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเต็มตัว เหมือนหุ้นโรงเรียน SISB