xs
xsm
sm
md
lg

บจ.แห่หนีคดีไม่ส่งงบ ฯ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ในความผิดไม่จัดทำและส่งงบการเงิน ตามที่กฎหมายกำหนดนับสิบ ๆ คดี และแม้จะเป็นความผิดเล็กน้อยโทษแค่ปรับ แต่ผู้ต้องหาหลบหนีคดีกันจำนวนมาก

ความผิดฐานไม่จัดทำและส่งงบการเงิน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แม้เป็นคดีอาญา แต่มีบทลงโทษที่เบา เพราะศาลมักสั่งปรับเป็นเงินระดับไม่กี่หมื่นบาทหรือไม่กี่แสนบาท เมื่อสารภาพ ยังได้ส่วนลดค่าปรับกึ่งหนึ่งด้วย ซึ่งบริษัทจดทะเบียนสามารถแบกรับภาระค่าปรับได้อยู่แล้ว


แม้โทษปรับเพียงไม่กี่หมื่นหรือไม่กี่แสนบาท แต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง กลับไม่ยอมรับบทลงโทษ ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ แต่ เลือกที่จะหลบหนี จนคดีหมดอายุความ และกำลังเป็นพฤติกรรมที่ลุกลามในตลาดหลักทรัพย์


ทำให้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ขาดความศักดิ์สิทธิ์ และทำให้ ก.ล.ต. กลายเป็นเสือกระดาษ


ความผิดการไม่จัดทำและส่งงบการเงินตามกำหนดเวลา เป็นคดีที่มีสถิติสูงสุด เมื่อเทียบกับความผิดต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ โดยก่อนหน้าการดำเนินคดีไม่มีปัญหา เพราะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ยอมรับบทลงโทษ


แต่ปัจจุบันผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเริ่ม “หัวหมอ” และคิดว่าไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะมีช่องทางที่จะเลี่ยงบทลงโทษตามกฎหมาย


เมื่อ ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว กรมสอบสวนพิเศษจะส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งในขั้นตอนที่อัยการส่งสำนวนฟ้อง ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ถูกกล่าวโทษในความผิดฐานไม่จัดทำและนำส่งงบการเงิน จะหลบหนี


ทั้งที่จริงแล้ว อาจไม่ได้หลบหนีไปไหน เพียงแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวมาดำเนินคดีเท่านั้น


ถ้าอัยการไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องได้ ช่วงเวลาหนึ่งคดีจะหมดอายุความ ทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ไม่ต้องรับโทษใด ๆ


การหลบหนีจนคดีหมดอายุความ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กรณีผิดร้ายแรง เช่นคดีการปั่นหุ้น บมจ.กฤษดามหานคร หรือหุ้น KMC


KMC ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นหุ้น บริษัท เอคิวเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AQ ที่มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เคยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อจากกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะขายหุ้นทิ้งทั้งหมด เพียงไม่กี่เดือนก่อนหุ้นจะเข้ากลุ่มฟื้นฟูกิจการ และถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งพักการซื้อขาย โดยไม่มีการตรวจสอบการซื้อขายที่เข้าข่ายอินไซเดอร์เทรดดิ้งของ พล.ต.อ.สมยศ แต่อย่างใด


เดือนเมษายน 2536 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษนายวิชัย กฤษดาธานนท์พร้อมพวกและ นายสอง วัชรศรีโรจน์ หรือ "เสี่ยสอง" และพวก ร่วมกันปั่นหุ้น KMC โดยนายสองถูกตัดสินลงโทษจำคุก แต่หลบหนี จนคดีหมดอายุความ จึงกลับเข้ามาป้วยเปี้ยนในตลาดหุ้นอีกครั้ง


ส่วนความผิดเกี่ยวกับการไม่จัดทำและส่งงบการเงินตามกำหนดนั้น ไม่ค่อยมีข่าวว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลบหนี เพราะเป็นความผิดเล็กน้อย โทษเพียงการถูกปรับเงินไม่กี่หมื่นกี่แสนบาท ซึ่งไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะจ่ายค่าปรับ


แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มปรากฏการณ์ ผู้บริหารบริษัทหลบหนีคดีไม่ส่งงบการเงินฯ แม้เป็นความผิดที่มีบทลงโทษสถานเบา และเป็นโทษที่ไม่ได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด


พฤติกรรมการหลบหนีความผิด การไม่ส่งงบการเงินกำลังลุกลาม และส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และกำกับดูแลผู้กระทำความผิดในตลาดหุ้น


เพราะเมื่อผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งหนีคดี และไม่มีการติดตามจับกุมตัว จนคดีหมดอายุความ โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอื่นจะนำเป็นแบบอย่าง และพากันหนีคดีตาม


เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. แล้ว ในการจัดการกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน “หัวหมอ” และ แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต. ไม่ใช่เสือกระดาษ และกฎหมายยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่


ความจริงคดีในตลาดหุ้น เมื่ออัยการสั่งฟ้องแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบควรนำมาเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ เช่นเดียวกับคดีอาชญากรรมทั่วไป เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันสอดส่องติดตามผู้กระทำความผิด และหากผู้ต้องหาหลบหนี ทุกคนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตามแจ้งแสให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาดำเนินคดี


แต่คดีเรื่องหุ้น มักถูกหมก ถูกหมักถูกดองในหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีคดีหุ้นค้างเติ่งนับร้อยคดี


ดังนั้นถ้ามีการแจ้งความคืบหน้าการดำเนินคดี จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใสการดำเนินคดี ของแต่ละหน่วยงานได้ และติดตามตรวจสอบได้ว่า มีหน่วยงานใด “หมก” คดีหรือ “เป่า” คดีหุ้นหรือไม่


ไม่เว้นแม้แต่การตรวจสอบว่า มีหน่วยงานใดจงใจ ปล่อยให้ผู้ต้องหาในคดีไม่ส่งบการเงินหลบหนี จนคดีหมดอายุความแล้วหลายคดีหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น