xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแนวโน้มธุรกิจ“ปตท.” ปี 62 เติบโตต่อเนื่องแม้ ศก.ชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - ส่องหุ้น “ปตท.” ยังแข็งแกร่งแม้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ภาพรวมยังไม่เต็มมูลค่า โอกาสปรับตัวเพิ่มยังมี จับตาปี 2561 มีลุ้นกำไร 1.36 แสนล้านบาท ส่วนปีหน้าที่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท แม้กลุ่มโอเปกมีแผนสิ้นสุดการลดกำลังการผลิต และสงครามการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ฯ จะกดดันภาวะเศรษฐกิจ

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะกลุ่ม ปตท. ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และด้วยการเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์ ทำให้ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาผันผวนปรับตัวลดลงตามไปด้วย

หนึ่งในสาเหตุของความผันผวนครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนพฤศจิกายน โดยปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2562 จะขยายตัวเพียง 1.29 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 70,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว ถือเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน พร้อมกับคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศนอกโอเปกจะเพิ่มขึ้น 2.23 ล้านบาร์เรล/วัน ในปีหน้า โดยเพิ่มขึ้น 120,000 บาร์เรล/วัน และจากตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดทำให้เกิดแรงขายต่อหุ้นกลุ่มน้ำมันออกมาในหลายตลาด รวมถึงหุ้นกลุ่ม ปตท.

ไม่เพียงเท่านี้ สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เริ่มมีออกมามากขึ้น เห็นได้จากนักวิเคราะห์หลายราย ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าในปีหน้าปัจจัยลบต่างประเทศจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ทำให้เป็นสิ่งที่ท้าทายหลังหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 4.3% โดยปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่มีอัตราเติบโตดีอยู่ นอกจากนี้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำและค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแม้ทำให้เศรษฐกิจไทยยังดูแข็งแกร่งและมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูง แต่โดยรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจเติบโตช้าลงจากปีนี้

จากคาดการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์ยกให้ปัจจัยที่กดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ และจีน ทำให้จีนมีนโยบายการให้เงินหยวนค่อย ๆ อ่อนค่าลง เพื่อลดผลกระทบจากการทำสงครามการค้า ซึ่งการที่เงินหยวนอ่อนค่า นั่นรวมถึงค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงไปด้วย นั่นหมายความว่า กำลังซื้อของประเทศตลาดเกิดใหม่ในตลาดโลกจะลดลง

ล่าสุดราคาน้ำมันปรับลดลง 7% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ค่าเงินอ่อน ทำให้ประเทศที่ปกติมีแรงซื้อน้ำมันเยอะจะไม่สามารถซื้อได้เนื่องจากค่าเงินอ่อนลง นั่นทำให้ประเด็นค่าเงินอ่อนค่าของประเทศเกิดใหม่ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในปีหน้าเพราะกำลังซื้อในตลาดโลกลดลง

นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายฝ่ายคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ และจะขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2562 จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ร้อนแรง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีความผันวน จากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีศักยภาพจึงไม่ต้องเร่งขึ้นตาม จากปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูง

กลับมาโฟกัสกันที่หุ้นน้ำมันชั้นนำของตลาดหุ้นไทยอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ล่าสุดมีบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ออกมาประเมินว่า แม้แนวโน้มกำไร PTT ไตรมาส 4/2561 น่าจะปรับขึ้นจากไตรมาส 3/2561 จากธุรกิจผลิตและสำรวจ ปิโตรเลียมผ่าน บริษัทลูก "ปตท.สผ." (PTTEP) ตามปริมาณการขายที่จะเพิ่มขึ้น 11.2% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 3.39 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลและโครงการกลับมาผลิตเต็มที่หลังจากหยุดซ่อมบำรุง และผลบวกจากต้นทุนต่อหน่วยที่คาดจะลดลงอยู่ราว 31-32 จาก 33 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล อีกทั้งคาดราคาขายก๊าซจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 7.1 จาก 6.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ล้าน บีทียู ขณะที่ในส่วนกลุ่มโรงกลั่นคาดจะรับผลบวกจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปลายไตรมาส 4 เช่นกัน

แต่ประมาณการกำไรปกติปี 2562 กลับพบว่าจะปรับตัวลดลง 3.4% จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดู ไบในปีหน้าที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2561 ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ/บาร์เรล และตั้งแต่ปี 2563 กำหนดไว้ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ /บาร์เรล โดยเชื่อว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกที่เดินหน้าเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุฯและนอกกลุ่มโอเปกที่นำโดยรัสเซียกับสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมโอเปกในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ที่คาดว่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดของแผนปรับลดกำลังการผลิตในปัจจุบัน จะมีน้ำหนักกดดันราคาน้ำมันดิบมากกว่าประเด็นอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากแซงก์ชัน

ประกอบคาดภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าจะกดดันความต้องการของการใช้น้ำมันโดยรวมของโลก นั่นทำให้ราคาหุ้น PTT ในปี 2562 อยู่ที่ 56.00 บาท/หุ้น และเมื่อพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันถือว่าราคาปัจจุบันอัพไซด์จำกัด จึงไม่ใช่จังหวะเข้าซื้อลงทุนระยะยาว แค่เก็งกำไรช่วงสั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานว่า บมจ.ปตท. (PTT) และบริษัทลูก 5 แห่ง คือ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.บางจาก (BCP) และบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) แจ้งผลประกอบการงวดไตร มาส 3 ปีมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 62,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,723 ล้านบาท หรือ 74.7% และงวด 9 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 192,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,621 ล้านบาท หรือ 13.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าในปี2561 หุ้นกลุ่ม ปตท.มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นจากช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง จนส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มลดลงตามไปด้วย

ล่าสุด ผู้บริหารใหญ่ของกลุ่มอย่าง "ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. แสดงความเห็นต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ในช่วงนี้จนถึงปลายปีนี้ว่า น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอาจจะส่งต่อผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ อย่าง ปตท.สผ.ที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงโดยตรง แต่เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีนี้จะไม่ได้กระทบมากนัก เพราะในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้กลุ่ม ปตท.นับว่าสามารถทำผลการดำเนินงานได้ดี

ขณะที่ประเมินราคาน้ำมันดิบในปี 2562 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 65-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีการเมืองระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมัน

"ราคาน้ำมันที่ร่วงแรงเป็นผลจาก geopolitics และประเด็นการค้าระหว่างจีนและอเมริกา ทำให้นักลงทุนพวกเฮดจ์ฟันด์ ถอยขายลงมา ราคาน้ำมันควรจะ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลแถวนี้ไม่ควรจะเป็น 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ที่ผ่านมาเรามีการบริหารความเสี่ยงตลอดเวลาไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร แต่เพื่อไม่ให้ราคาห่างกันเยอะ แต่หากราคาน้ำมันแตกต่างกันเยอะและเร็ว ก็จะมีปัญหา ช่วงนี้ยังพอรับได้อยู่ ไตรมาสสุดท้ายอาจจะกระทบบางบริษัทที่อยู่ต้นน้ำนิดหน่อย แต่เราเก็บมา 9 เดือนได้ดี"

นอกจากนี้ ซีอีโอ ปตท. ยังให้เหตุผลต่อการประเมินทิศทางราคาน้ำมันในปี2562 จะทรงตัวไม่เกินกรอบ 65-80 ดอลลาร์ หรัฐ/บาร์เรล มาจากปัจจุบันการรวมตัวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังคงมีความแน่นแฟ้นที่จะคงการผลิตให้อยู่ระดับเหมาะสมและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้ถูกหรือแพงเกินไป รวมถึงกำลังการผลิตจากสหรัฐ ฯ ยังคงมีอยู่ แม้ยังติดขัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปการที่จะส่งออกน้ำมันยังมีปัญหา แต่หากสามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จก็จะทำให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ในหลาย ๆ ประเทศก็มีแนวโน้มจะผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากขึ้น

ขณะที่มองความต้องการใช้น้ำมันของโลกน่าจะยังเติบโตได้ถึงระดับ 100 ล้านบาร์เรล / วันในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 90 ล้าน บาร์เรล/วัน โดยความต้องการใช้ในไทยมีเพียง ประมาณ 9 แสนบาร์เรล/วัน หรือไม่เกิน 1% ของความต้องการใช้ตลาดโลก ทำให้ไทยไม่สามารถควบคุมทิศทางราคาน้ำมันได้ แต่จะเป็นผู้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน

"ในส่วนของ ปตท. ก็มีทีมงานที่ดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อเนื่อง รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"

เรื่องดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์อีกหลายแห่ง อาทิ ระบุว่ายังคงประมาณการเดิมผลดำเนินงาน PTT ไว้จากกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกคิดเป็น 74% ของประมาณการทั้งปี 2561 โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรปกติช่วงไตรมาสสุดท้าย น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้มีแรงกดดันจากอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ มีโอกาสอ่อนตัวลงจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลงตามราคา HDPE สวนทางกับต้นทุนก๊าซฯ ที่จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณขายจะมากขึ้นเนื่อง จากไม่มีการซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ

แม้ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น คาดกำไรสต๊อกฯ น้อยลงหรือมีโอกาสพลิกขาดทุน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวลดลงอีกทั้งมีปัจจัยลบจากราคาและ Spread ของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีคาดว่าทั้งหมดจะได้รับการชดเชยจากผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องของธุรกิจ E&P โดยเฉพาะราคาขายก๊าซ ฯ ที่มีการปรับรอบใหญ่ ช่วงเดือนตุลาคม

ส่วนการโอนทรัพย์สินให้ PTTOR ค่าใช้จ่ายทางภาษีซึ่งเป็นรายการ One time จะไม่มีเข้ามาในไตรมาสนี้อีกแล้ว ขณะที่กำไรจากการลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัทย่อยน่า จะเกิดขึ้นในปี 2562 เมื่อถึงเวลานำ PTTOR เข้าตลาดฯ ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้สะท้อนเข้าไปในประมาณการ จึงสรุปภาพรวมปีนี้ ปตท.จะมีกำไรสุทธิ 136,093 ล้านบาท เติบโต 1% จากปีก่อน ส่วนปี 2562 คาดเติบโตอีก 3 % ที่ 140,242 ล้านบาท

ดังนั้นจากการเติบโตดังกล่าว ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ด้วย Valuation ปัจจุบันไม่แพง P/E ต่ำเพียง 10.2 เท่าพร้อม Div.Yield 4% ต่อปี มีราคาเหมาะสมอยู่ที่ 59.00 บาท โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อภาพการเติบโตระยะยาว ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจพลังงานครบวงจร รวมถึงการมองหาการลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อสร้าง New S-Curve เติบโตต่อเนื่องในอนาคต

จากข้อมูลทั้งหมด พอสรุปได้ว่า การเติบโตด้านผลด้านงานของปตท. ในปีนี้และปี2562 ยังอยู่ในทิศทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะได้รับปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ไม่ได้ลดลงมากเหมือนก่อนหน้านี้ จึงยังเป็นหุ้นที่เหมาะแก่การลงทุนระยะยาว ขณะที่ราคาหุ้นที่เหมาะสมกับราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ถือว่ายังมีอัพไซด์ในการลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น