สบน. ย้ำ ยังไม่กู้เงินจากจีนทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงฯ กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 เหตุ ต้นทุนการเงินสูงกว่ากู้ภายในประเทศ ระบุ ได้กู้เงินในประเทศแบบ Term Loan เพื่อใช้ในโครงการนี้แล้ว 2 พันล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย BIBOR แต่ระยะยาวแปลงรูปแบบเงินกู้จาก Term Loan ให้เป็นเงินกู้ระยะยาวได้
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษกสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แถลงถึงรายงานผลชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์กรณีการเปิดรับการลงทุน และการกู้เงินจากจีนสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Government to Government : G to G) ว่า ปัจจุบันยังคงใช้เงินกู้ในประเทศอยู่ โดยยังไม่มีการใช้เงินกู้จากจีนแต่อย่างใด เนื่องจากต้นทุนเงินกู้ของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนเงินกู้จากจีน
ทั้งนี้ ก่อนหน้าหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์จากสิงค์โปร์ ได้เผยแพร่ข่าวโดยระบุว่า ไทยจะเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, มาเลเซีย ที่ประสบปัญหาในการลงทุนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ กับรัฐบาลจีน จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากจีนที่ค่อนข้างสูง
รองโฆษก สบน. ยังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเงินกู้ของรัฐบาลไทย และจีนนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเท่านั้น แต่ยังคงไม่สามารถหาย้อสรุปใดๆ ในประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะใช้ลงทุนในโครงการความร่วมมือดังกล่าวนี้ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากหากคำนวณถึงอัตราดอกเบี้ยที่จีนจะปล่อยกู้บวกกับค่า Swap แล้ว แต่จะสูงกว่าการกู้ยืมเงินในประเทศ ซึ่งจะทำให้ สบน. ไม่สามารถกู้ยืมจากจีนได้ แต่ต้องใช้เงินกู้ในประเทศ ซึ่งมีสภาพคล่องที่ยังเพียงพอต่อการกู้ยืมได้ นอกจากนี้ การกู้เงินจากรัฐบาลจีนถือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และในปัจจุบัน ไทยก็ยังไม่มีการทำข้อตกลงในสัญญาฉบับใดๆ อีกด้วย ยกเว้นจะเป็นเพียงการอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องสัญญาเงินกู้เท่านั้น
สำหรับความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายนั้น รัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจีนเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ส่วนการลงทุนนั้น รัฐบาลไทยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยอาศัยงบประมาณของรัฐ และเงินกู้ ขณะที่การพัฒนาโครงการนี้จะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร มีวงเงินค่าก่อสร้าง 1.796 แสนล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินลงทุนจะมาจากงบประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศอีก 1.66 แสนล้านบาท ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน สบน. ได้กู้เงินระยะสั้นภายในประเทศ (Term Loan) เพื่อใช้ในโครงการนี้แล้ว 2 พันล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย BIBOR แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว สบน. สามารถแปลงรูปแบบเงินกู้จาก Term Loan ให้เป็นเงินกู้ระยะยาวได้