xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์กำไรงวด 9 เดือน 1.4 หมื่นล้าน-ลดลงกว่า 16%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บมจ. ไทยออยล์ กำไรสุทธิ 9 เดือน 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนกว่า 16% ผลจากกำไรสต๊อกน้ำมันลดลง ขณะที่ผลขาดทุนจากอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงสุทธิเพิ่มขึ้น

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP แจ้งผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 ว่า บริษัทกำไรสุทธิ 4,558.35 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.23 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 7,605.43 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.73 บาท ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 14,961.00 บาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.33 บาท ลดลงจากปีก่อนกำไรสุทธิ 17,929.47 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.79 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิงวด 9 เดือนลดลงกว่า 2,968.47 ล้านบาท คิดเป็น 16.56%

ทั้งนี้ กำไรไตรมาส 3/61 ลดลงกว่า 40% เนื่องจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 4.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่มีผลขาดทุนจากอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงสุทธิ เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาท จึงส่งผลให้ EBITDA ลดลง 3,859 ล้านบาท เหลือ 7,124 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไทยออยล์ มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 548 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 1,159 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสิ้น Q2/61 ขณะที่กลุ่มไทยออยล์ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 20,965 ล้านบาท จากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมากตามราคาน้ำมันดิบ โดยมีปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

โดยกลุ่มไทยออยล์ มีกำไรขั้นตั้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 3.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงหลังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบ และ Crude Premium ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับสัดส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินล้นตลาด รวมทั้งส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตาได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน กลุ่มไทยออยล์ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันลดลง 1.1 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นจำนวน 1,090 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมในช่วง Q4/61 ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก Q3/61 โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ที่ปรับตัวลดลง หลังมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2561 ส่งผลให้ผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลดการนำเข้าจากอิหร่านลง

พร้อมคาดการณ์ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะดีเซล และน้ำมันอากาศยาน เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดพาราไซลีนจะทรงตัว หรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย จากโรงงานผลิตอะโรเมติกส์ในซาอุดีอาระเบีย และโรงงานที่เวียดนาม ที่ได้เปิดดำเนินการในช่วงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น