xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2561 ชูแผนเชิงรุกรับมือสงครามการค้า และความผันผวนเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2561 ของเอสซีจี รายได้เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ ขณะที่กำไรลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ และพลังงาน ปรับตัวสูงขึ้น การค้าโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี เผยเกาะติดสถานการณ์สงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก พร้อมเร่งผลักดันแผน 6 ด้าน เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจ ได้แก่ ขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก บริหารจัดการต้นทุนพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน และทบทวนโครงการลงทุน และต้นทุนการลงทุน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 122,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน จากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกำไร 9,473 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 24 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (asset impairments) ตามมาตรฐานบัญชี 1,670 ล้านบาท และต้นทุนวัตถุดิบ Naphtha ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจี มีกำไร 11,143 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2561 เอสซีจี มีรายได้จากการขาย 361,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 34,281 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ เอสซีจี ยังมีรายได้จากการส่งออก 97,924 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 เอสซีจี มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 30,899 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 87,943 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่นๆ 64,322 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 จากยอดขายรวม

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีมูลค่า 592,399 ล้านบาท โดยร้อยละ 26 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2561 แยกตามรายธุรกิจดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 57,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 7,485 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 167,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และมีกำไร 23,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 46,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน จากการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวดเมื่อไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเท่ากับ 1,585 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี กำไรสำหรับงวดจะเท่ากับ 265 ล้านบาท

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 137,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค และมีกำไรเท่ากับ 4,426 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจแพกเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 22,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากราคาของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและการปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจแพกเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 65,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และมีกำไร 4,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า “ผลประกอบการของเอสซีจีในช่วงไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2561 มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ จากตลาดโดยรวมที่มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งตลาดเคมิคอลส์ และแพกเกจจิ้ง ที่ยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่มีกำไรลดลง จากปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบ และพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการค้าโลกที่ชะลอตัว และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี”

อย่างไรก็ตาม เอสซีจี ได้เกาะติดสถานการณ์สงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และได้ตระหนักถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อธุรกิจโดยรวม ขณะเดียวกัน ก็สามารถเอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ได้เช่นกัน เอสซีจี จึงปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าวด้วยแผน 6 ด้านที่พนักงานทุกระดับร่วมมือกันปฏิบัติ เพื่อรักษาและเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก ซึ่งมีเส้นทางการค้าที่เปลี่ยนไปจากผลของสงครามการค้า เช่น การส่งออกสินค้าไปยังจีน และสหรัฐฯ ในช่วงที่สงครามการค้ายังดำเนินอยู่ ตลอดจนแผนระยะยาวที่นอกจากจะเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศแล้ว เอสซีจี ยังเน้นการขยายฐานตลาดสู่ภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด หนึ่งในโครงการสำคัญอย่างโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ในเวียดนาม ก็คืบหน้าตามแผน โดยเริ่มดำเนินการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการเตรียมที่ดินสำหรับการก่อสร้างแล้ว หลังเสร็จสิ้นการลงนามสัญญาเงินกู้กับ 6 สถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

อีกทั้งเอสซีจี ยังมองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และมูลค่าของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การขยายธุรกิจลอจิสติกส์ไปในจีน โดยร่วมกับ Jusda Supply Chain Management International (JUSDA) บริษัทลูกของ Foxconn ในการให้บริการขนส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วจีน รวมถึงพัฒนาระบบการขนส่งข้ามแดนระหว่างจีน และอาเซียน ในรูปแบบ Total Supply Chain Solution ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อติดตามสถานะและควบคุมระบบขนส่ง โดยระยะแรกจะเน้นให้บริการที่จีนตอนใต้ ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้เอสซีจี พร้อมรองรับการขยายธุรกิจ Sourcing และ e-commerce ขายสินค้าไทยไปยังจีน นอกจากนี้ ด้วยนวัตกรรมโซลูชัน Fulfillment by SCG Logistics ครบวงจร ที่ให้บริการคลังสินค้าจัดเก็บ บรรจุหีบห่อ และจัดส่งสินค้าตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยังช่วยเชื่อมต่อและให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน รวมทั้งตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย

2. การบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน เช่น การทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้า ทำให้เอสซีจี สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ได้กว่า 400 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับแผนที่วางไว้) และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน โดยสามารถจ่ายไฟได้แล้ว 38 เมกะวัตต์ ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกคิดเป็นผลประหยัด 170 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วย IoT แพลตฟอร์ม และโครงการที่ใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ รวมกว่า 100 โครงการ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะมีผลประหยัด 615 ล้านบาทต่อปี

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ได้ร่วมกับดิจิทัล เวนเจอร์ส ในการนำ Blockchain มาใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าอย่างครบวงจร ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยบุคลากรในองค์กร เช่น ระบบ Robotic Process Automation ที่จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนั้น AddVentures ซึ่งเป็น Corporate Venture Capital (CVC) ของเอสซีจี ก็ได้ลงทุนในสตาร์ทอัปไปแล้วกว่า 415 ล้านบาท

4. การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต 6 กลุ่ม เช่น อาคารอัจฉริยะ, พลังงานหมุนเวียน, AI และ Big Data โดยล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) และ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS ICCB) ซึ่งมีสถาบันวิจัยในเครือข่ายมากกว่า 100 แห่งในประเทศจีน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2561 เอสซีจี มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA) 139,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 3,535 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม และตั้งเป้าเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5-2 ของยอดขายรวมในอนาคต อีกทั้งยังเร่งสร้างความแข็งแกร่งในภาคบริการ ให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภค โดยร่วมกับบุญถาวร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2562

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัว “SCG HOME” เพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการพร้อมคัดสรรนวัตกรรมสินค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ลูกค้าแบบครบวงจร สำหรับการอยู่อาศัยในทุกรูปแบบและหลากหลายช่วงอายุ ทั้งกลุ่ม Eldercare, Smart Living และ Smart Care ตลอดจนการพัฒนา Home Buddy Application ที่ช่วยให้การสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ และยังเป็นช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการที่สะดวกสบาย เชื่อมต่อกันทั้งหน้าร้าน และออนไลน์ โดยลูกค้าสามารถสัมผัสประสบการณ์ใหม่นี้เป็นครั้งแรกได้ที่ SCG HOME Pop-up Store ใน “งานบ้านและสวนแฟร์ 2018” ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-4 พ.ย.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

5. การเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน ด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เอสซีจี มีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 76,008 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร (cash & cash under management) 52,614 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

6. การทบทวนโครงการลงทุนและต้นทุนการลงทุน โดยเน้นเฉพาะโครงการที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น การลงทุนในโครงการประหยัดพลังงาน อาทิ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเตรียมให้บริการในรูปแบบโซลูชันครบวงจรเป็นรายแรกของไทยในปี 2562 ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ ติดตั้ง และบริการหลังการขาย ให้แก่ผู้สนใจทั้งภาครัฐ และเอกชน

“ทั้งนี้ เอสซีจี ยังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศ และในภูมิภาคไว้ได้ ด้วยการวางกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ด้วยแผน 6 ด้านข้างต้น ประกอบกับกลยุทธ์ในระยะยาวที่เอสซีจี ได้วางรากฐานไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น