xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองชัดเจนดันรับสร้างบ้าน Q4 สดใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association : THBA) ชี้สถานการณ์ตลาดบ้านสร้างเองไตรมาส 3 (กรกฏาคม-กันยายน 2561) ภาพรวมยังทรงตัวหรือขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ฉุดให้กำลังซื้อจนไม่อาจขยายตัว เกิดจากผลกระทบด้านการเมือง และภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ตลาดบ้านสร้างเองตลอดปี 2561 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนสุดท้าย หากทิศทางด้านเศรษฐกิจประเทศปรับตัวได้ดี และจากรัฐบาล คสช.ที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และประชาชน ที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจ และการเมือง กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง และจะทำให้กล้าจับจ่ายใช้สอย และลงทุนเรื่องบ้าน หรือที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินมูลค่ารวมตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท โดย “ธุรกิจรับสร้างบ้าน” หรือกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน (ไม่ใช่ผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป) น่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะแชร์ส่วนแบ่งได้แล้ว 70% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ซึ่งยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะสามารถชิงแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ประมาณการไว้

รับสร้างบ้าน Q3 นิ่งหลังเจอพิษภัยธรรมชาติ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านจากที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านจะมีมูลค่ารวม 14,000-15,000 ล้านบาท จากการประเมินในช่วง 9 เดือน หรือ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา แชร์ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมยังต่ำกว่าเป้าที่ประมาณการเล็กน้อย ถึงแม้ในช่วงท้ายไตรมาส 3 ความต้องการและกำลังซื้อจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม สาเหตุหลักๆ มาจากภัยธรรมชาติ และฤดูกาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นช่วงฤดูฝน และเกิดพายุฝนตกหนักในหลายๆ พื้นที่ จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง และมีดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคใต้บางส่วน ทำให้ผู้บริโภครอดูสถานการณ์ และชะลอการปลูกสร้างบ้านเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 (ก.ค.-ส.ค.) กำลังซื้อชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด บางส่วนที่กำลังตัดสินใจก็ยังลังเลรอดูสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง โดยเพิ่งกลับมามีสัญญาณบวกภายหลังปัญหาน้ำท่วมเบาบางลง ในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 ทำให้ภาพโดยรวมตลาดรับสร้างบ้านดีขึ้น แต่ไม่มากนัก

ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่มีการแข่งขันกันรุนแรงพอสมควร โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองเศรษฐกิจ โดยรูปแบบการแข่งขันจะแตกต่างกันออกไป สามารถจำแนกออกได้ 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท 2. กลุ่มตลาดราคาบ้าน 2-5 ล้านบาท 3. กลุ่มตลาดราคาบ้าน 5-10 ล้านบาท และ 4. กลุ่มตลาดราคาบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับกลุ่มตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะมีผู้ประกอบการรายเล็ก และรายใหม่ รวมถึงผู้รับเหมาสร้างบ้านแข่งขันอยู่ในตลาดนี้เป็นหลัก เน้นแข่งขันราคามากกว่าเน้นคุณภาพ ระดับการแข่งขันรุนแรงมาก

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มราคา 2-5 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีผู้ประกอบการอยู่กันครบ ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกันสูงปานกลาง สำหรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่ใช้แข่งขันจะเน้นเรื่องรูปแบบบ้าน และดีไซน์สวยงาม, คุณภาพวัสดุ, ฝีมือและผลงานก่อสร้าง รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภค

ส่วนกลุ่มที่ 3 จะเป็นบ้านราคา 5-10 ล้านบาท กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่เน้นแข่งขันราคา แต่จะแข่งขันในเรื่องของรูปแบบฟังก์ชัน ดีไซน์ คุณภาพวัสดุ หรือแม้แต่การสร้างจุดขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ในเรื่องของบ้านประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมภายในบ้าน เช่น ระบบระบายอากาศ ระบบโฮมออโตเมชัน รวมถึงมีบริการออกแบบตกแต่งภายใน จัดสวน ไว้รองรับหากผู้บริโภคมีความต้องการ ฯลฯ

สุดท้าย กลุ่มบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงพอสมควร เนื่องจากมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียง รายกลาง รายใหญ่ และรายที่มีประสบการณ์อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านมานาน ต่างเข้ามาแข่งขันชิงแชร์ตลาดกันจำนวนมาก สวนทางกับปริมาณ หรือจำนวนหน่วยที่มีอยู่จำกัด เพราะกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนิชมาร์เกต แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และราคาต่อหน่วยสูง ผู้ประกอบการที่แข่งขันในตลาดนี้จะไม่เน้นแข่งขันราคา แต่จะเน้นในเรื่องของดีไซน์ และฟังชันที่ตอบโจทย์เฉพาะไลฟ์สไตล์ เน้นภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ การให้บริการแบบ One stop service เบ็ดเสร็จทั้งงาน Interior และ Landscap ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 20 ราย รวมถึงผู้ผลิตวัสดุรายใหญ่ที่แตกไลน์ธุรกิจหันมาจับตลาดกลุ่มนี้ เพื่อต้องการหนีการแข่งขันในเรื่องของราคา

แม้สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคจะเติบโตในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยประเมินสถานการณ์จาก 1. ความชัดเจนทางการเมืองหลังจากรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า 2. การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศหลังจากตลาดหุ้นเริ่มมีสัญญาณบวก 3. รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ 4. ผู้ประกอบการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทิศทางในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีนั้น นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลปลดล็อกทางการเมือง และส่งสัญญาณเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวล ส่งผลทางด้านจิตวิทยา และทำให้สถานการณ์ของตลาดรับสร้างบ้าน เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น กอปรกับความเชื่อของผู้บริโภคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชาชนจะไม่นิยมปลูกสร้างบ้านในช่วงเข้าพรรษา หรือตรงกับช่วงไตรมาส 3 ดังนั้น เชื่อว่าในไตรมาส 4 ประชาชนจะเริ่มกลับมาปลูกสร้างบ้านกันคึกคักอีกครั้ง ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบอยู่บ้างในเรื่องของภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน หากเผชิญพายุฝนอีกครั้ง ก็อาจเกิดการชะงักในเรื่องของการก่อสร้าง รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง หากว่ารัฐบาล คสช.มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก คาดว่าจะส่งผลในด้านลบ และอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจ หรือตัดสินใจล่าช้าออกไปอีกเช่นกัน

“สมาคมฯ เชื่อว่า กำลังซื้อกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำได้ เชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านในโค้งสุดท้ายนี้ น่าจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เพราะเท่าที่สังเกต จะเห็นว่ากำลังซื้อยังคงมีอยู่ เพียงแต่ผู้บริโภครอการตัดสินใจเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต่างก็ต้องเร่งสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้มีการจัดโปรโมชันต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ ทั้งลด ทั้งแถม ผู้บริโภคเองมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ สถาบันการเงินเริ่มคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เชื่อว่าผู้บริโภคจะรีบตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงนี้ เพราะจะคุ้มค่าหรือเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของผู้บริโภคก็ว่าได้”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ควรต้องศึกษาข้อมูล รวมถึงมีการเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน เพราะข้อมูลที่ได้อาจจะยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ปัจจุบัน ผู้บริโภคร้อยละ 70 มักจะใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาข้อมูล แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดบางประการในการเปรียบเทียบข้อมูล ดังนั้น ทางที่ดีควรจะต้องศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น ตรวจสอบบริษัทรับสร้างบ้านว่ามีตัวตนจริง มีที่ตั้งชัดเจนหรือไม่ มีทีมงานอย่างไร มีเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ได้หรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภคเองทั้งสิ้น ที่สำคัญ ข้อมูลจากลูกค้าที่เคยใช้บริการมาก่อน เพราะจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ด้วย อย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างว่าเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ เพราะอาจจะเป็นเพียงแค่การโฆษณาให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น