xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เผย ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นอนแบงก์ สร้างมาตรฐานผู้ให้บริการสินเชื่อลิสซิ่ง-แฟกตอริ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายพรชัย ฐีระเวช รองโฆษกกระทรวงการคลัง
ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นอนแบงก์ ตามที่คลังเสนอ ซึ่งจะมีผลให้การกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศมีครบทั้ง 100% “รองโฆษกกระทรวงการคลัง” เผยวาระสำคัญตามกฎหมายจะมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงิน 5 ประเภท ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ และกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ส่วนการตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อดูแลนโยบาย การให้ใบอนุญาตในประกอบธุรกิจ รวมถึงการขึ้นทะเบียนจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นหลังจากกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้แล้วภายใน 360 ก่อนเปิดให้ผู้สนใจเปิดให้สินเชื่อทั้ง 2 กลุ่มยื่นขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนต่อคณะกรรมการฯ โดยครอบคลุมถึงผู้ที่เคยได้รับอนุญาตให้ทำสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จากคลังแล้วด้วย

นายพรชัย ฐีระเวช รองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงร่าง พ.ร.บ. การกำกับดูผู้ให้บริการการเงิน พ.ศ.... ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ..... หรือร่าง พ.ร.บ.นอนแบงก์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภท ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมีปริมาณการทำธุรกรรมรวมกันราว 1 ล้านล้านบาท แต่ยังคงไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลอย่างชัดเจนซึ่งจะทำให้การประกอบธุรกิจขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน และเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบัน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จำเป็นต้องไปใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาช่วยจัดการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศแล้ว จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลระบบการเงินของประเทศมีครบทั้ง 100%

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 หมวด รวม 74 มาตรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ การกำกับจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่ในการดูแลนโยบาย การให้ใบอนุญาตในประกอบธุรกิจ รวมถึงการขึ้นทะเบียน และการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีสถานะที่คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการฯ นั้น จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วภายใน 360

โดยในระยะเริ่มแรก จะมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงิน 5 ประเภท ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ 1. ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากสำนักงานฯ, และกลุ่มที่ 2. คือ กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟกตอริ่ง เป็นทางค้าปกติ โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงานฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมการยกร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ขออนุญาตประกอบธุรกิจให้สินเชื่อในกลุ่มที่ 1 จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องขึ้นทะเบียนฯ นั้น หากไม่ดำเนินการตามกฎหมายจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการทางการเงินข้างต้นนั้น จะไม่รวมถึงการให้บริการทางการเงินข้างต้นที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทในเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินเป็นการเฉพาะ แต่ในอนาคต หากมีความจำเป็น ก็สามารถเพิ่มประเภทของผู้ให้บริการทางเงินอื่นๆ เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้ ก็จะตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมต่อไป

รองโฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เคยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังไปแล้วก่อนหน้า จะต้องกลับมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาต เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ แล้วด้วย ส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้น การให้สินเชื่อใดที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนตามกฎหมายแล้ว ก็ให้ยึดกรอบไปตามนั้น แต่หากยังมีสินเชื่อประเภทใดที่กฎหมายยังไปไม่ถึง คณะกรรมการฯ ก็จะมีการพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นายพรชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรมสินเชื่อทั้ง 5 ประเภทว่า สินเชื่อเช่าซื้อรวมเมื่อปี 2560 จะมีปริมาณธุรกรรมราว 5 แสนล้านบาท ส่วนลีสซิ่งจะมียอดสินเชื่อคงค้างเมื่อปี 2560 ราว 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อแฟกตอริ่งมียอดคงค้างปี 2560 ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (คาร์ฟอร์แคช) จะมียอดคงค้างปี 2560 ราว 2 แสนล้านบาท และยอดสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เมื่อถึงสิ้นเดือน ก.ค.2562 จะมีทั้งสิ้น 330 ล้านบาท และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2561 จะมีทั้งสิ้น 6,246 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น